แรงงานพม่ากลับประเทศ เอกชนระนองชี้สัญญาณเตือนปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต
ระนอง—-นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่งรองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ทางภาคเอกชนใน จ.ระนอง กำลังเป็นห่วงและกังวลมากที่สุดคือปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในไทยมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับยิ่งขณะนี้มีปัญหาผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดโลก สงครามการค้า การกีดกันทางการค้า ที่ทำให้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ โรงงานเกี่ยวกับส่งออกประสบวิกฤติปัญหาจนมีการปิดกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงาน อาจจะเร่งเร้าให้วิกฤติปัญหาแรงงานรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งแรงงานที่เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มพัฒนาฝีมือแรงงานตนเอง
และบางส่วนเริ่มทยอยกลับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้แรงงานประเภทไร้ฝีมือเริ่มขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่แรงงานที่เข้ามาทำงานในไทยเป็นเวลานาน และอาจถูกเลิกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กระทบ และสงครามการค้า อาจทำให้แรงงานจำนวนมากตัดสินใจกลับประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการที่ปิดโรงงานทั้งในไทยและหลายประเทศจะมีการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุน ค่าแรงต่ำเพื่อสู้กับการแข่งขันทางการค้า การกลับไปเตรียมตัวในประเทศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีมากขึ้นของแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานจากพม่า
ทางผู้ประกอบการธุรกิจการค้า ,กลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมใน จ.ระนอง และต่างจังหวัด ไม่มีใครสนใจเรื่องอัตราค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้น แต่กำลังวิตกต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะจากการศึกษาข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าโครงสร้างประชากรของไทยที่พบว่าวันเรียน,วัยทำงาน และวัยเกษียณที่ไม่สมดุลกัน จากโครงสร้างที่พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรในวัยทำงานมากถึงร้อยละ 55 ในขณะที่วัยเรียนร้อยละ 28 และวัยเกษีณร้อยละ 17 จะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาในอนาคตได้เป็นอย่างดีกว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หลังจากกลุ่มประชากรวัยทำงานซึ่งมีอายุระหว่าง 20-54 ปี เข้าสู่วัยเกษียณ จะมีประชากรที่อยู่ในวัยเรียนในปัจจุบันมีเพียงร้อย 28 เข้ามาทดแทน ทำให้ประชากรวัยทำงานที่เคยมีอยู่หายไปถึงร้อยละ 22 ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานในระดับที่รุนแรง ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็เริ่มปรากฏให้เห็นที่ไทยต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 10 ล้านคนเพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน แต่พบว่าก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นจึงทำให้ผู้ประกอบการมีความวิตกเป็นอย่างมากเพราะจะส่งผลต่อแผนงานของแต่ละบริษัท ในขณะเดียวกันก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายทุนออกจากประเทศไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการในท้องถิ่นเองก็กำลังหาช่องทางที่จะขยายฐานธุรกิจเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรในวัยทำงานพร้อมรองรับการประกอบการในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ซึ่งจุดนี้ประเทศไทยควรจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับประชากรใหม่ และควรจะต้องเร่งศึกษาและดำเนินการ เพราะการเปลี่ยนแปลงประชากรต้องใช้เวลานาน 10-20 ปีจึงจะมีผล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: