เปิด 4 เหตุผลที่ศาลให้ยกฟ้อง “โอ๊ค พานทองแท้ คดีฟอกเงิน แบงค์กรุงไทย
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สั่งยกฟ้อง “โอ๊ค พานทองแท้”คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย แน่นอนว่าฝ่ายแพ้จะต้องยื่นอุทธรณ์ และจะต้องสู่กันถึงสามศาลแน่น ต้องไปจบที่ศาลฎีกา อัยการเจ้าของสำนวนก็ต้องไปปิดจุดอ่อนของสำนวน
คดีนี้เป็นคดีที่คณะกรรมการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบการฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9 และ 60 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ 5 พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
คดีนี้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ต.ค.61 กรณีนายพานทองแท้รับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาทเข้าบัญชี โดยเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยเงินกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 80 ปี ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ อายุ 53 ปี บุตรชาย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทยตกเป็นจำเลย คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำคุกนายวิชัยและนายรัชฎา บุตรชาย คนละ 12 ปี นอกจากนี้นายวิชัย นายรัชฎา และกลุ่มอดีตกรรมการบริษัทเอกชนในเครือกฤษดารวม 6 คน ยังถูกอัยการยื่นฟ้องความผิดฐานฟอกเงินการปล่อยกู้ดังกล่าวต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย
ชั้นพิจารณาศาลอาญาคดีทุจริตฯ “นายพานทองแท้” จำเลยก็ให้การปฏิเสธสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นส่วนที่จะร่วมลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซุปเปอร์คาร์กับนายรัชฎา บุตรชายของนายวิชัย อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร ขณะที่ “นายพานทองแท้” ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี 1 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
เปิด 4 เหตุผลที่ศาลสั่งยกฟ้อง
1.หลักฐานไม่เพียงพอ หลักฐานของโจทก์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เช็ค 10 ล้านบาท ที่ได้มาจากลูกชายของผู้บริหารกฤษดามหานคร มาจากการฟอกเงิน หรือเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์จากวงเงินกู้กรุงไทย
2.พฤติการณ์การเบิกจ่ายเงินในบัญชี ไม่พบพิรุธ ไม่ปิดบังหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ธปท.สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ตลอดเวลา จึงรับฟังไม่ได้ว่าร่วมสมคบในการฟอกเงิน
3.ศาลนำมูลค่าเช็ค 10 ล้านบาท ไปเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดของ โอ๊ค พานทองแท้ ที่มีกว่า 4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.0025% และเมื่อนำไปเทียบกับเงินทุจริตหมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.001% เท่านั้น
4.ผู้พิเคราะห์คดีเห็นแย้งกัน ฝ่ายที่เห็นว่าให้ดำเนินคดีกับ โอ๊ค ลงโทษจำคุก 4 ปีจาก 8 ปี กับอีกฝ่ายให้ยกฟ้อง
ฝ่ายที่ชนะโดยศาลยกฟ้องก็ต้องบอกว่า ได้รับความเป็นธรรมจากขบวนการยุติธรรม ฝ่ายแพ้คดีก็ต้องไปคนหาพยาน หลักฐานใหม่มาอุดสำนวนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ให้แน่นหนาขึ้น และคดีนี้คาดการณ์ได้เลยว่าต้องสู้กันถึงชั้นศาลฏีกาแน่นอน
ด้วยความเคารพ
นายหัวไทร
25 พฤศจิกายน 2562
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: