งบฯภัยแล้ง ปี 2562 ก็เริ่มนำร่องความอื้อฉาวจากการลุกขึ้นมาตรวจสอบของภาคประชาชนที่นครพนมที่ทำเอาผู้เกี่ยวข้องดิ้นกันทั้งจังหวัด
งบฯที่ครม.อนุมัติแบบเหมาเข่ง 15,800 ล้านบาท กระจายลง76 จังหวัดหารกันแบบไม่ต้องคิดมาก จังหวัดละ 200 ล้านบาท จังหวัดก็นำมาหารต่อตามจำนวนอำเภอ อำเภอก็มาหารเฉลี่ยลงตามตำบล
ดูเหมือนฝนตกทั่วฟ้า….แต่ “ผลประโยชน์” ก็กระจายทั้งแผ่นดินเช่นกัน
เคยเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ 3 ต.ค.ที่ผ่านมาหลังเห็นความผิดปกติในความเร่งรีบของแต่ละจังหวัดบีบให้ทุกส่วนเข้ามาร่วมจัดทำโครงการเพื่อเร่งให้เซนต์สัญญาจ้างทันก่อน 30 ก.ย.62 และก็อดสงสารเจ้าหน้าที่ อปท.ทั้งเทศบาล และอบต.ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบฯก้อนนี้ เพราะเป็นงบฯที่ผ่านกระทรวงมหาดไทยโดยตรง แต่คนจัดการงบฯไม่มีคน ต้องขอตัวหน่วยงานอื่นมาช่วยจัดทำ
ตามนโยบายหั่นซอยให้แต่ละโครงการไม่เกิน 5 แสน เพื่อจะได้ใช้วิธีจัดจ้างพิเศษโดยไม่ต้องประกวดราคา…และทำกันแบบนี้ทั่วประเทศจากงบฯ ก้อนโต 15,800 ล้านบาท
ทั้งรองนายกฯ ,ปลัด, นายช่าง,พัสดุ เทศบาล, อบต.ถูกระดมมาช่วยงานตามที่นายอำเภอขอไป และชะตากรรมก็ไม่ต่างกับหน่วยกล้าตาย จำใจเอาคอไปพาดเขียง พลาดเมื่อไหร่เป็นอันจบ เสี่ยงต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เสี่ยงคุก เสี่ยงตะรางแต่จำเป็นต้องทำเพราะนายขอมา
ชาวบ้านที่นครพนมประเดิมกระจายตรวจสอบโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ ที่เริ่มทยอยปิดงาน ปักป้าย รอตรวจรับทำเรื่องเบิกเงิน
แต่ข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านพบเจอก็เข้าทำนองเดิม ๆ ที่เคยทำมา คือแค่ทำแบบลวก ๆ ที่ภาษาผู้รับเหมาเรียกมันว่า “แต่งขอบบ่อรอเบิกตังค์”
พื้นที่จัดทำโครงการส่วนใหญ่ก็เป็นหนองน้ำ หรือแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว และเคยมีโครงการขุดลอกก่อนหน้านี้แต่ตื้นเขิน ปริมาณเก็บกักน้อยลงก็ถมงบฯลงไปเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกัก
ตามสัญญาจ้างระบุชัดถึงสเปกว่าต้องกว้าง ยาว ลึก และปริมาณดินที่ขุดกี่ ล.บม.ไว้ชัดเจน
ราคาว่าจ้างผู้รับเหมาตามสัญญาในจ.นครพนม ในการขุดลอกตกเฉลี่ย ลบ.ม.ละ 45 บาท
ตัวอย่างโครงการขุดลอกหนองผักไหม บ้านหัวขัวใต้ หมู่ 1 ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร งบฯ 495,000 บาท ขนาดความกว้าง 77 เมตร ยาว 120 เมตร ปริมาณดินไม่น้อยกว่า 10,919 ลบ.ม. ชาวบ้านร้องว่าการขุดลอกไม่มีความลึกเพิ่มจากของเดิม มีเพียงการแต่งขอบคันคูให้ดูสูงขึ้นที่ไม่มีประโยชน์ต่อการเก็บกักน้ำ
โครงการขุดลอกหนองท่ม บ้านนาลอย หมู่ 5 ต.หนองย่างชิ้น ความกว้างประมาณ 30 เมตร ยาว 14 เมตร ลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร มีปริมาณดินขุดไม่น้อยกว่า 4,498.20 ลบ.ม. งบประมาณ จำนวน 204,200 บาท ก็เข้าข่ายแต่งขอบคูไม่ได้ล้วงดินในท้องอ่าง
ชาวบ้านกางหลักฐาน พาพิสูจน์ในสถานที่จริงซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะโครงการแบบนี้ดูด้วยสายตาก็ดูออก ผู้ว่าราชการจังหวัด สยาม ศิริมงคล จึงสั่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบโครงการทั้ง 12 อำเภอ และต้องรายงานทุกวันศุกร์
แต่รายงานเบื้องต้นที่เข้ามาก็ค้านต่อข้อเท็จจริง กรณีตัวอย่างโครงการขุดลอกหนองผักไหม และโครงการขุดลอกหนองท่ม ที่รายงานว่าผู้รับเหมายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และจะเข้าไปดำเนินการอีกรอบ เนื่องจากสัญญาจ้างสิ้นสุดเดือนมกราคม 2563
ถ้าผู้รับเหมาจะเคลื่อนย้ายเครื่องจักรเข้ามาทำต่อขุดลอกท้องอ่างให้ความลึกได้ตามสัญญาก็ต้องรื้อคันดิน สูบน้ำ ลอกเลน หากลงทุนอีกรอบบอกได้เลยว่ามันงานหินกว่าแต่งขอบลวก ๆ แล้วเบิกเงินอย่างแน่นอน
ผู้รับเหมาที่รับงาน ต่างก็ต้องคิดถึงหลักการกำไรสูงสุด ประหยัดสุด ก็ต้องคิดมากเพราะรู้ว่ารับงานมาเท่าไหร่ และมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ?
มันผิดธรรมชาติที่ทุกคนต่างก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่หากไม่ทำตามที่รายงานชาวบ้านในพื้นที่ก็จี้ติด หากปล่อยเลยตามเลยก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ท.,ป.ป.ช.และ สตง.ที่ต้องลากเทปวัดมาพิสูจน์ความกว้าง ยาว ลึก กันให้ชัดว่าตรงตามสัญญาหรือไม่
กระบวนการจัดการเกี่ยวกับงบฯภัยพิบัติ ที่บางคนเรียกมันว่า “งบฯของหวาน” ทำกันแบบง่าย ๆ มานานจนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ผู้รับเหมามืออาชีพจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับงานประเภทนี้เพราะเสี่ยงหากถูกตรวจสอบเพราะมันพลาดแน่ๆ หรือแม้ไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการชาวบ้านข้างโครงการก็เห็นด้วยสายตาว่าทำงานไม่คุ้มค่าเงิน และรู้ว่าใครเป็นผู้รับเหมา เพราะป้ายสังกะสีระบุชัดหน้าโครงการฯ
หาเงินให้เขาใช้ เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง เสี่ยงคุก ไม่ทำดีกว่า เป็นคำบ่นของผู้รับเหมาที่หันหลังจากงานประเภทนี้
แม้ผู้รับเหมาบางส่วนไม่รับงานประเภทนี้ในยุคที่ ข้าราชการใหญ่กว่าผู้รับเหมาก็ยังมีบรรดาแมงเม่าบินว่อนหางานวิ่งเข้าหา โดยเฉพาะผู้รับเหมาในเครือนักการเมืองที่มั่นใจในศักยภาพเส้นสายว่าปลอดภัยเข้ามาจัดสรรปันส่วนงานอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ข้าราชการบางคนที่ฉลาดก็ตัดตอนตัวเองตั้งนายหน้าที่ไว้ใจได้เข้ามาจัดการแบ่งสันปันส่วนงานไปตามเครือข่ายต่าง ๆ ให้สมประโยชน์ และที่ขาดไม่ได้ตามธรรมเนียมคือ “เปอร์เซ็นต์”
บางที่ก็ลือว่าเงินสด ๆ ต้องจ่าย 50 บางพื้นที่บอกถึงระดับ 60 ก่อนเซนต์สัญญาถ้าเป็นจริงก็หมายถึงคนที่เป็นตัวกลางมาจัดการตรงนี้ต้องมีเงินระดับ 100 ล้าน จึงจะทำให้ทุกอย่างลงตัว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักการเมืองในแต่ละพื้นที่ต่างก็เงียบ แม้ว่าชาวบ้านจะลุกขึ้นมาตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลขนาดไหนก็ตาม
ชาวบ้านจ้างแบคโฮมาขุดบ่อจ้าง ลบ.ม.ละ 18-20 บาท ได้งานตามตกลง แต่ราชการทำ ลบ.ม.ละ 45 แถมเป็นการทำแค่แต่งขอบคันบ่อไม่มีความลึก ยิ่งขุดลอกช่วงหน้าฝนที่น้ำยังมียิ่งพลางตาได้ง่าย
หากคิดตามจากที่ลือกันว่าต้องจ่าย 50-60 เปอร์เซ็นต์แล้วทำงานแค่แต่งคันคูไม่ได้ล้วงดินลงลึก วัดจากปริมาณดินที่ขุดก็พอเห็นภาพว่า งานที่แพงกว่าชาวบ้านจ้างกว่า 2 เท่า ทำยังไงผู้รับเหมาก็ไม่เจ๊ง
จะเจ๊งก็ต่อเมื่อแต่งขอบคันคูเสร็จปักป้าย ย้ายเครื่องจักร แล้วถูกกดดันให้ต้องมาเก็บงานดูดเลน ล้วงบ่อ ขนดินไปทิ้งอีกรอบเพื่อให้ได้ความลึกตามคิวดินตามสัญญาจ้าง
กรณีตัวอย่างที่นครพนมที่ผู้ว่าฯ สยาม ศิริมงคล สั่งตรวจสอบ 371 โครงการ ใน 12 อำเภอ อย่างเอาจริงเอาจัง พร้อมกำชับว่าหากมีผู้รับจ้างรายใด ไม่ทำตามแบบมาตรฐาน หรือมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ดูเหมือนจะมีความหวังว่าเงินภาษีจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนเต็มมรรคผล แต่การตรวจสอบของภาครัฐที่ทำโครงการเองจะเป็นจริงขนาดไหน สิ้นสุดสัญญา ม.ค.2563 ก็จะได้รับรู้กัน
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: