ที่ บริเวณอาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ ร่วมเดินทางลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ด้านการชดเชยการประกันรายได้ส่งเสริมระบบประกันภัยสินค้าเกษตร “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” โดยได้ร่วมพบปะกับกลุ่มตัวแทนพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในเขตท้องที่จังหวัดลำปาง ซึ่งได้มาคอยต้อนรับอยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร โดยทางกลุ่มตัวแทนเกษตรกรได้นำเสนอปัญหา เรื่องราคาการจำหน่ายข้าวโพดที่ขายได้ราคาต่ำกว่าน้ำหนักหน้าตาชั่ง เนื่องจากถูกตัดน้ำหนักความชื้น ทั้งนี้เพื่อเป็นประเด็นให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำปัญหาเสนอเข้าที่ประชุมก่อนที่จะมีการร่วมหารือกับตัวแทนฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางมาตรการดำเนินการประกันรายได้สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีราคาที่สูงขึ้น
ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานการประชุม ร่วมหารือกับตัวแทนหน่วยงาน 3 ฝ่าย เพื่อหาแนวทางมาตรการดำเนินการช่วยเหลือประกันรายได้สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ห้องประชุมเอื้องหลวง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และตัวแทนฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ และตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เข้าร่วมประชุมให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางการดำเนินการประกันรายได้สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนหน่วยงานทั้ง 3 ฝ่าย ได้มีมติข้อสรุปแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นประเด็นในเรื่องต่างๆ หลายข้อ
ข่าวน่าสนใจ:
โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวสรุปถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่จะให้มีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วย มาตรการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรในกิโลกรัมละ 8.50 บาท ที่ระดับความชื้น 14.5 % ครอบครัวละไม่เกิน 30 ไร่ และเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งประเมินว่าจะมีด้วยกันทั้งหมดประมาณ 330,000 ครอบครัว และเกษตรกรผู้มีสิทธิให้ไปดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ โดยการใช้เงินส่วนต่างครั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้จะได้นำข้อกำหนดดังกล่าว นำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2562 และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกได้ประมาณวันที่ 20 ธันวาคม 2562
นอกจากนี้ในมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมมีมติเกี่ยวกับมาตรการเสริมอีก 6 ข้อ ได้แก่ มาตรการกำหนดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพด หากจำเป็นต้องนำเข้าตามเงื่อนไขข้อตกลงของอาเซียน ให้กำหนดอยู่ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง สิงหาคม เท่านั้น และหากจะมีเคลื่อนย้ายผลผลิตข้าวโพดใน 7 จังหวัด คือ จันทบุรี อุบลราชธานี เชียงราย น่าน เลย ตาก และสระแก้ว จะต้องขออนุญาตเคลื่อนย้ายต่อกรมการค้าภายใน หรือพาณิชย์จังหวัดในแต่ละจังหวัด, ส่วนการนำเข้าข้าวสาลี ให้กำหนดเงื่อนไขนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน จะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย 3 ส่วน, สำหรับการรับซื้อข้าวโพดในแต่ละพื้นที่ จะต้องใช้เครื่องชั่งและเครื่องวัดความชื้นที่มีความเที่ยงตรงได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการค้าภายใน, และในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผู้ครอบครองจะต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายในตามที่กำหนด อีกทั้งได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 แก่สถาบันเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการที่มีการเก็บรวบรวมข้าวโพดไว้ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เพื่อช่วยพยุงราคาข้าวโพดไม่ให้ตกต่ำในช่วงผลผลิตออกมาก โดยในส่วนนี้จะได้เตรียมวงเงินไว้เพื่อให้การช่วยเหลืออีกจำนวนกว่า 1,500 ล้านบาท ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ในการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าข้าวโพดอย่างผิดกฎหมาย และให้รายงานผลปฏิบัติต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทราบทุกครั้งที่มีการประชุม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: