X

อดีตโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์!!! เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีชื่อต่อท้ายมาตั้งแต่ต้น

เชียงราย-ที่มาของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์!!! เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีชื่อต่อท้ายมาตั้งแต่ต้น

2 ธ.ค.2562 เป็นโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวจังหวัดเชียงรายทั้งสิ้น พระพนมนครานุรักษ์ (ฮกไถ่ พิศาลบุตร) ในขณะที่เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย และมีความสนใจในกิจการสาธารณสุขเป็นอันมาก ได้เห็นความจำเป็นในการที่จะมีสถานพยาบาลโดยประกอบด้วยนายแพทย์ เจ้าหน้าที่ และเครื่องมือเครื่องใช้พอที่จะให้การรักษาพยาบาลประชาราษฎรในจังหวัดเชียงรายให้มีสุขภาพและอนามัยดียิ่งขึ้น

ในสมัยนั้นกิจการของสาธารณสุขยังอยู่ในวงแคบมาก สถานบำบัดโรคมีอยู่แต่สุขศาลาประจำจังหวัดแห่งเดียว ซึ่งมีหลวงเวชวุฒิ ปรีชา เป็นสาธารณสุขจังหวัด และนายแพทย์บุญเรือง บุนนาค เป็นนายแพทย์ประจำสุขศาลา สุขศาลาประจำจังหวัดตั้งอยู่ที่ตรงข้ามเรือนจำจังหวัด (ปัจจุบันคือศูนย์ทันตกรรมฯ) โดยเหตุนี้ท่านจึงชักชวนบรรดาข้าราชการเจ้าหน้าที่ตามองค์การต่างๆ พ่อค้า คหบดีและประชาชน ร่วมมือร่วมใจร่วมแรงกันตามกำลังความสามารถบริจาคทรัพย์ให้เป็นการก่อสร้าง และนายสี โต่วไทยเฮง คหบดีผู้หนึ่งแห่งจังหวัดเชียงรายได้อุทิศที่ดินให้เป็นที่ก่อสร้างสถานพยาบาลเมื่อรวบรวมเงินได้จำนวนมากพอที่จะดำเนินการแล้วและปรากฏว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความพร้อมเพรียงอย่างน่าปลาบปลื้มเช่นนี้การก่อสร้างสถานพยาบาลก็ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2479 และได้แล้วเสร็จทำพิธีเปิดทำการรักษาพยาบาลเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2480 นั่นเอง พระพนมนครานุรักษ์ได้เชิญพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิด แต่เนื่องด้วยพระยาพหลพลพยุหเสนา ติดราชการจึงได้ให้คุณหญิงพหลพลพยุหเสนามาแทน พิธีเปิดได้กระทำกันอย่างเอิกเกริกมโหฬาร ก่อนทำพิธีเปิดกรมสาธารณสุขสมัยนั้น ได้สั่งย้ายนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว มาประจำที่สถานพยาบาลแห่งนี้ และได้โอนกิจการของสุขศาลาประจำจังหวัดมารวมอยู่ในสถานพยาบาลนี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในขณะนั้น สถานพยาบาลมีเจ้าหน้าที่คือ นายแพทย์ 1 ผู้ช่วยนายแพทย์ 3 นาย นางพยาบาล 1 คน มีอาคารอยู่ 8 หลัง คือ ตึกอำนวยการหนึ่งหลัง เรือนคนไข้ชายหนึ่งหลังเรือนคนไข้หญิง 1 หลัง บ้านพักแพทย์ 1 หลัง บ้านพักพยาบาล 4 หลัง สถานพยาบาลแห่งนี้ยังขาดคุณลักษณะในการที่จะเป็นโรงพยาบาลโดยสมบูรณ์ตามมาตรฐานได้ เพราะยังขาดโรงครัวโรงซักฟอกและโรงพักศพ พระพนมนครานุรักษ์ จึงได้ขวานขวายทำการติดต่อกับพระยาราชเดชดำรง (ผล ศรุตานนท์) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย ท่านได้เห็นด้วยในความจำเป็นข้อนี้และในฐานะนายกเทศมนตรี จึงได้กรุณาปันเงินก้อนหนึ่งให้สถานพยาบาล จัดการก่อสร้างโรงครัว โรงซักฟอก และโรงพักศพขึ้น กรมสาธารณสุขจึงได้ยกฐานะสถานพยาบาลแห่งนี้ขึ้นเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดโดยสมบูรณ์ และได้ส่งนางพยาบาลมาเพิ่มอีก 1 คน คณะกรมการจังหวัดจึงได้ให้ชื่อโดยความเห็นชอบของกรมสาธารณสุขในสมัยนั้นว่า “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” ทั้งนี้เพราะได้รับความเกื้อกูลในการก่อสร้างจากประชาชนเต็ม 100%

กิจการได้เจริญขึ้นตามลำดับ เรือนคนไข้ซึ่งมีอยู่ 2 หลังดังกล่าวแล้วไม่พอที่จะรับคนใช้ได้เต็มที่ จึงได้รวบรวมเงินซึ่งได้จากการจำหน่ายยา และ รักษาพยาบาลจัดสร้างตึกสูติกรรมขึ้นอีกหนึ่งหลัง โดยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัด และอาศัยความช่วยเหลือของบรรดาประชาชนชาวเชียงราย ตึกสูติกรรมได้แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481

ต่อมาในปี พ.ศ.2482 พระพนมนครานุรักษ์ ผู้มีพระคุณแก่โรงพยาบาลต้องย้ายไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นที่น่าเสียดายและอาลัยแก่ประชาชนชาวเชียงรายอย่างยิ่ง แต่ก็ยังนับว่าเป็นกุศลของชาวเชียงรายอยู่มาก ถึงแม้ว่าพระพนมนครานุรักษ์ได้จากไปแล้ว ก็ยังมีผู้ร่วมงานร่วมความคิดกับท่านอยู่คือ ขุนสุวิสิฐอุดรการ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดในขณะนั้นท่านผู้นี้ได้เป็นหัวแรงสำคัญ ในการก่อสร้างสถานพยาบาลนี้ นับว่าเป็นผู้มีพระคุณแก่โรงพยาบาลนี้ไม่น้อย ท่านได้เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรมการจังหวัดซึ่งมี พ.ต.อ.พระยานรากรบริรักษ์ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ว่า ในฐานะที่พระพนมนครานุรักษ์ เป็นผู้ให้กำเนิดแก่โรงพยาบาลนี้ต้องจากไป ควรที่จะสร้างตึกให้ไว้เป็นที่ระลึกถึงท่านสัก 1 หลังและเนื่องจากพระพนมนครานุรักษ์ เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นในปี พ.ศ.2482 ตึกสำหรับพระสงฆ์สามเณรอาพาตจึงได้อุบัติขึ้น โดยความเห็นชอบจากคณะกรมการจังหวัดและโดยอาศัยความร่วมมือและร่วมใจจากประชาชนอีกวาระหนึ่ง จึงได้ชื่อตึกนี้ว่า “พนมรำลึก” เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระพนมนครานุรักษ์ที่ได้ให้กำเนิดโรงพยาบาลแห่งนี้

กิจการของโรงพยาบาลได้เป็นไปอย่างราบรื่น และเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะด้านศัลยกรรม ซึ่งปรากฏว่าได้ช่วยชีวิตประชาชนชาวเชียงรายไว้เป็นจำนวนไม่น้อยทำให้สถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้ และเจ้าหน้าที่ไม่เหมาะสมกับกิจการ โดยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งขณะนั้นมีหลวงรักษ์นราธร (โชค ชมธวัช) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดได้รวบรวมทรัพย์จากรายได้ของโรงพยาบาลและจากบรรดาผู้ใจบุญบริจาคบ้าง จัดการสร้างตึกผ่าตัดขึ้นอีกหลังหนึ่งราคา 8,500 บาท (แปดพันห้าร้อยบาท) ครั้นสร้างเสร็จแล้ว นายมุ่ย เตวิทย์ เจ้าของโรงสีแตมุ่ยเส็ง ได้เห็นประโยชน์ในการสาธารณสุขจึงขอซื้อตึกนี้ด้วยราคา 10,050 บาท (หนึ่งหมื่นห้าสิบบาท) นับว่าเป็นผู้อุปการะคุณแก่โรงพยาบาลแห่งนี้อีกผู้หนึ่ง ตึกหลังนี้ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2489 ในขณะนั้นประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างสงคราม กองทัพพายัพได้ขึ้นมาตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย คณะกรมการจังหวัดโดยมีหลวงรักษ์นราธร (โชค ชมธวัช) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ได้เชิญพลเอกผิน ชุณหะวัน มาเป็นประธานในพิธี ทั้งได้เชิญพระพนม นครานุรักษ์ มาร่วมงานนี้ด้วย ทำให้กิจกรรมด้านศัลยกรรมของโรงพยาบาลก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับถาวรตั้งแต่นั้นมา

โรงพยาบาลได้รับความเกื้อกูลทำนุบำรุงจาก ประชาชนชาวเชียงราย และการสนับสนุนในเรื่องเครื่องอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการสาธารณสุขโดยฉะเพราะอย่างยิ่งกรมการแพทย์ ซึ่งมีพันตรี นิตย์ เวชวิเศิษฐ เป็นอธิการบดี กรมการแพทย์ได้เล็งเห็นความสำคัญของโรงพยาบาลแห่งนี้ ว่าเป็นโรงพยาบาลอยู่ชายแดน สมควรจะมีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมแก่สถานการณ์จึงได้จัดการเพิ่มพยาบาลทั้งหญิงและชายกับได้ส่งนายแพทย์สมพงษ์ ศิริภักดี มาช่วยงานในโรงพยาบาลนี้ในปี พ.ศ.2489 อีกด้วย

เนื่องจากจังหวัดเชียงรายต้องประสบกับภาวะของสงคราม ประชาชนชาวเชียงรายต่างต้องพากันอพยพหลบภัยไปในที่ต่างๆ กิจการของโรงพยาบาล ก็ต้องดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ จนกระทั่งสงครามสงบ สภาพความเป็นอยู่ทั่วๆ ไปคลี่คลายเข้าสู่ระดับปกติ แต่ความเจ็บป่วยของประชาชนมีมากขึ้น เนื่องจากได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยสงคราม โครงการที่จะขยายกิจการของโรงพยาบาลซึ่งต้องชะงักไปเป็นเวลาหลายปีได้กลับรื้อฟื้นขึ้นใหม่ และเห็นว่าถ้าจะเปิดงานเอกซ์เรย์ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง จะทำให้การรักษาพยาบาลของแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้ผลแน่นอนยิ่งขึ้น ฉะนั้นด้วยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัดอันมีขุนวิสิฐอุดรการ (กรี วิสิฐอุดรการ) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ได้รวบรวมเงินรายได้ของโรงพยาบาลจัดสร้างตึกเอ๊กซ์เรย์ขึ้นอีกหลังหนึ่งในปี พ.ศ.2491 และกรมการแพทย์ได้จัดส่งเครื่องเอกซ์เรย์มาให้ 1 เครื่อง เพื่อสนับสนุนให้สมความมุ่งหมายของโรงพยาบาล

ในปี พ.ศ.2490 โรงพยาบาลได้รับความอนุเคราะห์จากกรมการแพทย์โดยจัดส่งนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว นายแพทย์ผู้ปกครองโรงพยาบาลไปศึกษาวิชาศัลยกรรมต่อ ณ ประเทศอเมริกา มีกำหนดเวลา 3 ปี และได้จัดส่งนายแพทย์ชัยศรี คชะลุต มาช่วยนายแพทย์สมพงศ์ ศิริภักดิ์ ได้เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างตึกเอ๊กซ์เรย์ และได้เป็นผู้จัดหาเครื่องอุปกรณ์ในตึกนี้ นอกจากนี้ยังได้จัดการก่อสร้างถนนลาดซีเมนต์ในโรงพยาบาลอีกหลายสายดังประจักษ์อยู่ ณ บัดนี้ ตึกเอ๊กซ์เรย์ได้สร้างเสร็จคิดเป็นราคาเงินสองแสนบาท และได้ทำพิธีเบ็ดในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2491 โดยมีนายชะลอ จารุจินดา ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นประธานในพิธี งานพิธีได้เป็นไปอย่างครึกครื้นมีผู้มีเกียรติมาร่วมในงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ส่วนงานทางศาสนาก็ได้กระทำอย่างสมบูรณ์ คือนิมนต์พระสงฆ์ ซึ่งขณะนั้นได้มาจากสำนักในท้องที่ต่างเพื่อทำการสอบนักธรรมจำนวน 115 รูปกระทำพิธีสวดเป็นมงคลฤกษ์ และได้มีการตักบาตรทั่วทั้งเมืองด้วย

โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้ มีข้อผูกพันธ์กับสำนักงานไร่ยาสูบเชียงรายโดยให้การรักษาพยาบาลแก่พนักงาน กรรมการ และครอบครัวของสำนักงานไร่ยาสูบ และเมื่อถึงสิ้นปีสำนักงานยาสูบต้องจ่ายเงินเป็นค่าบำรุงให้โรงพยาบาลเป็นรายปีๆ ละ 36,000 บาท (สามหมื่นหกพันบาท) การรักษาพยาบาลที่สำนักงานไร่ยาสูบได้รับนั้น หมายถึงการจ่ายยาให้ไปตามสถานีต่างๆ การรับคนไข้ไว้รักษาภายใน การคลอดบุตร การผ่าตัด การเอ๊กซ์เรย์ และการบำบัดโรคฟัน ขณะที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลไม่คิดค่าอาหาร สำหรับการคิดค่าอาหารนี้ โรงพยาบาลจ่ายให้ตามตำแหน่งของพนักงานไร่ยาสูบ อย่างสูงวันละ 20 บาท อย่างต่ำวันละ 4 บาท

เนื่องจากค่าบำรุงปีละ 36,000 บาท ซึ่งสำนักงานจ้างให้โรงพยาบาลนั้น ไม่เพียงพอแก่การที่จะช่วยเหลือสำนักงานไร่ยาสูบได้ต่อไป ดังนั้นในปี พ.ศ.2492 โรงพยาบาลจึงขอเพิ่มค่าบำรุงเป็นปีละ 48,000 บาท (สี่หมื่นแปดพันบาท) และประกอบกับเห็นว่าโรงพยาบาลไม่มีที่จะรับคนไข้ได้เพียงพอ นายแพทย์สมพงษ์ ศิริภักดี จึงได้ติดต่อกับสำนักงานงานไร่ยาสูบขอให้อุทิศเงินจำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) เพื่อสร้างตึกคนไข้ขึ้นอีก 1 หลัง บรรจุได้ 15 เตียง และโรงพยาบาลได้ลดค่าบำรุงให้เหลือปีละ 12,000 บาท ทางสำนักงานไร่ยาสูบซึ่งมีนายหรรษ์ วิญญู เป็นผู้จัดการได้สนับสนุนข้อเสนอนี้ต่อโรงงานยาสูบอันมี พันเอกหลวงชำนาญ ยุทธศิลปะ เป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ในที่สุดคณะกรรมการโรงงานยาสูบได้ตกลงตามนั้น

โดยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัดและสำนักงานไร่ยาสูบ จึงได้จัดการวางรากตึกคนไข้ยาสูบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2493 โดยมีพันเอก หลวงชำนาญ ยุทธศิลปะ เป็นประธานในพิธี มีผู้มีเกียรติมาร่วมพิธีประมาณ 200 คน การก่อสร้างแล้วเสร็จและได้ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2494

การก่อสร้างสถานพยาบาลแห่งนี้ได้รับความร่วมมือให้ความช่วยเหลือจากบรรดาท่านเหล่านี้คือ ในการปราบสถานที่เริ่มแรกได้รับความร่วมมือจากพัสดีเรือนจำในสมัยนั้น มีขุนพิทักษ์อาชญาเป็นพัสดี ผู้ควบคุมการก่อสร้างได้รับความช่วยเหลือจาก ขุนชิต ชาญตรวจ, นายเล็ก กีระติปาล และนายสง่า บุญญาหาร ส่วนการก่อสร้างมีนายฟุ่น อุดมทรัพย์, นายฮิม แซ่กง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

ในช่วงแรกโรงพยาบาลได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 50 เตียง และได้เพิ่มจำนวนเตียงตามลำดับ กระทั่งปี พ.ศ.2531 ได้รับการอนุมัติเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 600 เตียง และปัจจุบันมีจำนวน 756 เตียง มีเนื้อที่ 67 ไร่ 4 งาน 75 ตารางวา

ภาพประกอบ : เถ้าแก่สีห์ และแม่เลี้ยงกิมเฮียะ (คุณพ่อสีหศักดิ์ และคุณแม่กิมเฮียะ ไตรไพบูลย์) คหบดีชาวเชียงรายได้บริจาคที่ดินจำนวน 19 ไร่ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของโรงเรียนบ้านสันโค้ง (เชียงรายจรูญราษฎร์) ให้เป็นที่สร้างโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

เรียบเรียงโดย : นายอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระ ด้านเชียงรายศึกษา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881