X

อย่านิ่งดูดาย…ฝนถล่มใต้คลื่นลมแรงซัดหาดชลาทัศน์พัง ต้นสนหักโค่นนับสิบต้น

ฝนถล่มใต้ คลื่นกัดเซาะหาดชลาทัศน์พัง ต้นสนหักโค่น ปัญหาน้ำกัดเซาะควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

ภาคใต้ตอนล่างกำลังประสบปัญหาฝนตกหนัก และน้ำท่วม โดยเฉพาะ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส เจอฝนถล่มหนักมาก น้ำท่วมแล้ว 7 อำเภอ บางอำเภอระดับน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร โดยเฉพาะเขตพื้นที่ราบลุ่ม

กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมามีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ และประชาชนบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

แต่ที่แน่ๆเจอเต็มไปแล้วคือ หาดชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา และอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา โดนคลื่นลมแรงพัดชายหาดเสียหายมาก ต้นสนขนาดใหญ่ล้มไปนับสิบต้น

นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ในฐานะคนสงขลา รีบรุดไปตรวจสอบทันทีตั้งแต่เมื่อวาน และเช้าวันนี้ก็ย่องไปสำรวจมาอีกรอบ

กล่าวสำหรับหาดชลาทัศน์ เจอปัญหาคลื่นลมแรงแรง และน้ำกัดเซาะมานานหลายปี กรมโยธาธิการ ได้จัดสรรงบประมาณลงไปผ่านเทศบาลนครสงขลาหลายล้านบาท ด้วยการนำถุงบิ๊กแบ็ค พลาสติกสังเคราะห์อย่างหนาบรรจุทราย ขุดลงไปฝังแล้วเอาทรายกลบ คืนความเป็นหาด แต่ยังรับความแรงของคลื่นไม่อยู่

บริเวณหาดชลาทัศน์ สงขลา เจอปัญหาคลื่นลมแรง น้ำกัดเซาะมาหลายปี โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า น้ำกัดเซาะเกิดจากอะไร แต่ในทางวิชาการเชื่อกันว่าเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ที่เชื่อว่า ถ้ามนุษย์บุกรุกลงไปในทะเล ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของทิศทางน้ำ

น้ำกัดเซาะหาดชลาทัศน์ จำเลยจึงไปตกอยู่กับท่าเรือน้ำลึกสงขลา แต่ยังไม่มีอะไรมาพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าใช่หรือไม่ จึงยังเป็นเพียงข้อสมมุติฐาน การแก้ไขจึงยังเป็นไปตามข้อสมมุติฐาน น้ำกัดเซาะชายฝั่งของสงขลา ยังกินไปถึงบริเวณบ้านเกาะแต้ว ในเขตอำเภอเมืองเช่นกัน บริเวณบ้านเกาะแต้ว น้ำกัดเซาะมาจนถึงถนนริมทะเลแล้ว

น้ำกัดเซาะบ้านเกาะแต๋ว ทางกรมโยธาธิการก็จัดสรรงบลงไปแก้ปัญหาด้วยการนำหินก้อนขนาดใหญ่มาวางเรียงเป็นเกาะหินริมทะเล ก่างจากชายฝั่งไปประมาณ 100 เมตร เพื่อกันแรงกระแทกจากคลื่น ลดปัญหาการกัดเซาะลงไป แต่คลื่นแรงก็กระแทกจนเกาะหินพังราบลงไปก็มี

นักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับสาเหตุของน้ำกัดเซาะชายฝั่งว่าเกิดจากอะไรกันแน่ วิธีแก้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเกาะเรียงหิน การใช้ทรายถม การปลูกต้นไผ่ ซึ่งวิธีแก้เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ยังเป็นการทำลอง ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่ละพื้นที่ก็เกิดจากปัญหาที่แตกต่างกันอีก

เรื่องปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทั้งฝั่งอ่าวไทย อันดามัน และบริเวณอ่าว ก.

ชายฝั่งอส่งไทยมีปัญหามาตั้งแต่นราธิวาส ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช เป็นต้น ฝั่งอันดามัน ไล่มาตั้งแต่จังหวัดตรังจนถึงระนอง ไทยเราต้องสูญเสียแผ่นดินไปแล้วจำนวนมาก ที่ดินบางแปลง มีโฉนดอยู่ในทะเล บ้านบางหลังจ่อรอเวลาคลื่นมากัดเซาะ

รัฐบาลเองในเชิงนโยบายดูเหมือนจะยังไม่จริงจังมากนัก ยังให้หน่วยงานบางหน่วยเข้าไปแก้ จริงๆควรหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาระดับชาติ เป็น”วาระแห่งชาติ”บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารุมกันแก้

ทหารเองบอกว่า “เราจะไม่ยอมสูญเสียแผ่นดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว” แต่ไม่มีหน่วยทหารหน่วยไหนออกไปจับเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ ไปสู้รบกับ”น้ำกัดเซาะชายฝั่ง”

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมก็ควรจะศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยมาใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะ หน่วยงานภาคปฏิบัติก็ควรนำผลการศึกษาวิจัยไปใช้งานให้เกิดผลอย่างจริงจัง ไม่ใช่มะโน คิดเองเออเอง แบบ “ตาบอดคลำช้าง”

ด้วยความเคารพ
นายหัวไทร
2 ธันวาคม 2562

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน