มหาสารคาม – ชาวเมืองตักสิลาจัด “บุญซำฮะ” ถวายกระทงสามเหลี่ยมและเครื่องบัตรพลีสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปัดรังควานเภทภัย เสริมดวงชะตาบ้านเมือง สร้างสุขร่มเย็นพี่น้องประชาชน
ที่หอพระประธานกันทรวิชัย บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม นายวิทยา มากปาน รอง ผวจ.มหาสารคาม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และ ประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ร่วมสืบสานประเพณีโบราณอีสาน “บุญซำฮะ” จังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 8 – 9 มิถุนายน โดยในวันนี้เป็นการทำพิธีทำบุญตักบาตรและแห่พระ ถวายกระทงสามเหลี่ยมใส่อาหารคาว หวาน และเครื่องบัตรพลีสังเวย จากนั้นขบวนแห่ทั้งหมดก็จะแยกไปรอบเมืองทั้ง 4 ทิศ เพื่อประกอบพิธีปัดรังควาน พร้อมเป็นการร่วมสร้างบุญกุศล สร้างขวัญกำลังใจแก่พี่น้องประชาชนในบ้านเมือง
ทั้งนี้ บุญซำฮะหรือบุญเดือนเจ็ด เป็นหนึ่งในประเพณีฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ของชาวอีสาน ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทำเพื่อชำระล้างสิ่งที่สกปรกรกรุงรังออกจากร่างกาย และทำจิตใจให้สดใส คำว่าซำฮะหรือชำระ หมายถึงทำให้สะอาด ปราศจากมลทินโทษ การทำให้สะอาดนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ ความสกปรกภายนอก ได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า อาหาร การกิน ที่อยู่อาศัย และภายใน ได้แก่ จิตใจ ความโลภ โกรธ หลง
โดยถือเอาเดือน 7 ที่ชาวอีสานจะเก็บกวาดบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะของหมู่บ้าน ทำความสะอาดครั้งใหญ่ในรอบปี ทำบุญตักบาตร ประพรมน้ำมนต์ให้แก่ครอบครัว ผูกแขนลูกหลานเพื่อความเป็นสิริมงคล และนำกรวดทรายที่ผ่านพิธีเจริญพุทธมนต์ไปหว่านรอบบริเวณบ้านและไร่นาเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล ร่วมกันสร้างบุญกุศล ชำระกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์
สำหรับการจัด “บุญซำฮะ” ที่เกิดขึ้นจากการร่วมใจของทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนของจังหวัดมหาสารคาม เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2556 ในยุคของนายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีแนวคิดที่จะสืบสานประเพณีบุญซำฮะขึ้นเพื่อเป็นการร่วมกันสร้างบุญกุศล ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย ซึ่งในแต่ละปีจะมีพิธีตรวจดวงชะตาเมือง พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรม โดยพุทธศาสนิกชนจะต้องเตรียมหินกรวด ทราย น้ำมนต์ ฝ้ายผูกแขน มาร่วมพิธีดังกล่าวด้วย จากนั้นแห่ขบวนไปตาม 4 มุมเมืองเพื่อนำกระทงไปทำพิธีกรรมให้กับสัมภเวสีด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: