ฉะเชิงเทรา – น้ำเค็มรุกคืบ ทะลักเข้าลำน้ำบางปะกงถึงตอนกลาง ก่อนลุกลามไหลเข้าคลองสาขา ขณะชลประทานเพิ่งตื่นนำเครื่องจักรกลงานหนักเข้าทำฝายปิดกั้นปากคลอง ด้านชาวบ้านวอนขอน้ำดิบต้นทุนจากต้นน้ำตอนบนช่วยผลักดัน ส่วนนายอำเภอราชสาสน์แหล่งกำเนิดข้าวหอมมะลิไทย ตั้งท่ารับ เผยเหลือน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนได้อีกเพียงแค่ 20 วัน ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างเต็มรูปแบบ
วันที่ 12 ธ.ค.62 เวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับคลิปวิงวอนร้องขอน้ำ จากนายกัมพล บุญวาที อายุ 51 ปี ชาวบ้าน ม.3 ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณปากคลองไผ่ขวาง ว่า ขณะนี้น้ำเค็มได้รุกคืบเข้ามาจนถึงลำน้ำบางปะกงตอนกลาง และได้ไหลทะลักเข้าสู่ลำคลองสาขาเข้ามายังภายในคลองไผ่ขวาง ถึง 5 กม.แล้ว แต่เพิ่งเห็นทางชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา นำรถแบคโฮเข้ามาตักดินตั้งคันทำนบปิดปากคลองเพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
ซึ่งตนมองว่าล่าช้าเกินไป เนื่องจากน้ำเค็มได้ไหลเข้าสู่ลำคลองไปก่อนหน้าแล้ว ขณะนี้จึงอยากให้ทางกรมชลประทาน ช่วยปล่อยน้ำออกมาจากอ่างเก็บน้ำทางตอนบนของลุ่มน้ำแควระบมสียัด เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไหลออกไปจากลำคลองก่อนที่จะปิดปากคลอง เพื่อไม่ให้น้ำเค็มที่รุกเข้ามาก่อนหน้าถูกขังปนอยู่กับน้ำจืดภายในลำคลอง นายกัมพล กล่าว
ขณะเดียวกัน น.ส.ธนิตา อุชชิน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง ต.บางพลวง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ในปีนี้น้ำเค็มรุกคืบเข้ามาในลำน้ำบางปะกงอย่างรวดเร็วมาก โดยพบว่ามีน้ำเค็มรุกคืบเข้ามาทางตอนกลางของลำน้ำบางปะกง ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ธ.ค.62 สามารถตรวจวัดค่าความเค็มได้ 1.69 มิลลิกรัมต่อลิตร
ที่บริเวณปากคลองคูมอญ ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยค่าความเค็มที่ตรวจวัดได้นั้น เกินกว่าค่ามาตรฐานในการนำน้ำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม ที่ควรมีค่าของความเค็มไม่เกินกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงได้ทำการปิดประตูระบายน้ำคูมอญ ที่บริเวณปากคลองสายดังกล่าวไว้แล้ว น.ส.ธนิตา กล่าว
และกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวงนั้น มีพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 3.5 แสนไร่ ในเขตพื้นที่ อ.บ้านสร้าง อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ทางตอนเหนือของ อ.บางคล้า อ.ราชสาส์น และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บางส่วน ขณะที่แผนการรับมือต่อภาวะภัยแล้งในปีนี้ ได้มีการตั้งเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่น้ำจืด จากแม่น้ำปราจีนบุรี (แม่น้ำบางปะกงตอนบน) เข้ามาทางประตูระบายน้ำบางพลวง ใน อ.บ้านสร้าง
โดยจะมีการปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนพระปรง จ.สระแก้ว ผ่านแม่น้ำปราจีนบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ลงมาเติมน้ำจืดในลำน้ำ เพื่อผลักดันและชะลอน้ำเค็มไม่ให้ลุกล้ำเข้ามาในลำน้ำบางปะกงสูงขึ้นเร็วเกินไป โดยมีแผนที่จะทำต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ม.ค.63 น.ส.ธนิตา ระบุ
ด้าน นายเกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากนโยบายหน่วยเหนือนั้น ได้ให้ทางอำเภอดูแลเกี่ยวกับน้ำอุปโภคบริโภคก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงไปดูแลน้ำในภาคการเกษตร ก่อนที่จะไปดูแลในส่วนของภาคอุตสาหกรรม จึงได้เตรียมการที่จะเข้าดูแลน้ำในโครงการประปาหมู่บ้านก่อน ซึ่งมีด้วยกัน 7 กลุ่ม โดยหากไม่มีฝนตกหรือมีปัจจัยอื่นเติมน้ำลงมาเชื่อว่าน้ำจะมีใช้ได้อีกแค่เพียง 20 วันเท่านั้น โดยเฉพาะที่โครงการประปาหมู่บ้านดงน้อยซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่
ขณะนี้จึงมีทางเลือกเพียงการชะลอน้ำจากระยะไกล จากแหล่งน้ำในคลองสาขาท่าลาด ที่เคยมีน้ำไม่ขาดลำคลองเกือบตลอดทั้งปี เช่น คลองจระเข้ตาย ซี่งอยู่ห่างจากโครงการประปาหมู่บ้านดงน้อยออกไปประมาณ 2.5 กม. และแหล่งน้ำตามธรรมชาติอีก 1 แห่งอยู่ห่าง 5 กม. ด้วยการให้ทาง อบต.ดงน้อย ไปเตรียมจัดหาเครื่องสูบน้ำมาเตรียมพร้อมไว้ เพื่อทำการสูบน้ำแบบทั้งวันทั้งคืนตลอด 15 วัน
ในการสำรองน้ำที่กำลังจะหมดลงภายใน 20 วันนี้ ให้สามารถมีต้นทุนน้ำใช้ต่อไปได้อีกประมาณ 1 เดือนจนถึงช่วงสิ้นเดือน ม.ค.63 หลังจากนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง โดยหากพ้นจากช่วงเดือน ม.ค.63 ไปแล้ว อาจจะต้องขอรับการสนับสนุนจากทางหน่วยทหาร และหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ในการนำน้ำมาเติมลงในสระที่ใช้ในการผลิตประปา
แต่ปัญหาสำคัญในขณะนี้ คือ ปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกล้ำที่มีผลโดยตรงต่อแหล่งน้ำกินน้ำใช้ จึงได้มีการเตรียมการ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากทางประปาส่วนภูมิภาค และโครงการชลประทานบางพลวง ให้เข้ามาช่วยดูในการปิดกั้นน้ำเค็มในพื้นที่ นายเกรียงไกร กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: