บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจร ทั้งขยะบก ขยะทะเล ด้วยฝีมือชาวชุมชน รวมทั้งเยาวชนในพื้นที่ ตั้งเป้าในปี 2565 จะเป็นชุมชนปลอดขยะ 100 % เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การจัดการขยะ โดยมีภาคเอกชนเห็นความสำคัญร่วมส่งเสริมผลักดันต่อยอดเต็มที่
วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ชุมชนมดตะนอย หมู่ 3 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งมีประชากรจำนวน 303 ครัวเรือน หรือรวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง พบว่าชาวชุมชน ทั้งส่วนราชการสำคัญคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมดตะนอย (รพ.สต.) โรงเรียน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ชาวบ้าน ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชนในชุมชน จับมือกันอย่างเหนียวแน่นในการร่วมกันทำให้ชุมชนชายฝั่งทะเลปลอดขยะให้ได้แบบ 100 % ซึ่งขณะนี้ได้รับการยืนยันว่าทำมาได้แล้วประมาณ 80 % จนมีหน่วยงานราชการต่างๆเดินทางไปศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก และยังมีหน่วยงานภาคเอกชนที่สำคัญ เช่น เอสซีจี ได้เดินทางเข้าไปช่วยเหลือชุมชน ร่วมส่งเสริมกิจกรรมต่อยอดการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การจัดทำอุปกรณ์ดักจับขยะ การวางท่อซีเมนต์ทำบ้านปลา การปลูกป่าชายเลน เป็นต้น
โดยตั้งเป้าในปี 2565 จะต้องเป็นชุมชนปลอดขยะ 100% ทั้งนี้ เมื่อขับรถเข้าไปในหมู่บ้านจะเห็นว่าสองฝั่งถนน ชาวบ้านจะมีถุงอวนแขวนไว้หน้าบ้าน นั่นคือ ถุงใส่ และคัดแยกขยะเรียบร้อยแล้ว ที่เจ้าของบ้าน ซึ่งทั้งหมดประกอบอาชีพประมง นำเศษอวนที่ไม่ใช้แล้วเย็บทำเป็นถุงใช้แทนถุงดำใส่และคัดแยกขยะ จากนั้นนำส่งให้ รพ.สต.มดตะนอย เป็นฝ่ายรวบรวมนำไปคัดแยก และส่งไปปลายทางที่ต้องการขยะเหล่านั้น นอกจากนั้นจะเห็นป้ายรณรงค์ลดขยะติดไว้ตามจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน ส่วนหน้าบ้านโดยเฉพาะร้านขายของชำ ร้านอาหารต่างๆ จะมีป้ายแขวนไว้หน้าบ้านว่า “ ร้านนี้ใส่ใจสุขภาพ ไม่ใช่กล่องโฟมบรรจุอาหาร” ทำโดย รพ.สต.มดตะนอย พร้อมให้คูปองไว้ประจำร้านค้าไว้แจกให้ลูกค้าเวลามาซื้อสินค้า ชื่อว่า “คูปองทำดี มีรางวัล.. เพียงแต่คุณร่วมลด ปฏิเสธ เลิก การใช้ถุงพลาสติก และถุงหูหิ้ว “ จะได้รับคูปองให้เขียนชื่อหย่อนไว้ในกล่องที่ทางร้านเตรียมไว้ โดย อสม.จะมาเก็บนำไปร่วมลุ้นรางวัลทุกวันที่ 15 ของเดือน ที่ รพ.สต.มดตะนอยจัดขึ้น” ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่รับกล่องโฟม ไม่รับหุงพลาสติกเวลาซื้อของ อาหาร โดยนำปิ่นโต ถุงผ้า หรือภาชนะใส่ของมาจากบ้านเวลาเดินมาซื้อของหรืออาหาร นอกจากนั้นในส่วนของนักเรียนทั้งเด็กเล็ก เด็กโต รวมทั้งคุณครูจะเอาอาหารใส่ภาชนะไปรับประทานที่โรงเรียน รวมทั้งกระป๋องน้ำ แม้แต่วันหยุด เด็กๆที่วิ่งเล่นในหมู่บ้าน แต่ละคนก็จะมีกระป๋องน้ำเป็นของใช้ส่วนตัวกันทุกคน จะนำน้ำมาจากบ้าน หรือหากจะซื้อน้ำหวาน น้ำอัดลมกิน ก็ให้แม่ค้าใส่ในกระป๋องน้ำดื่มประจำตัวให้ ซึ่งเป็นภาพที่ชินตา น่ารัก น่าประทับใจ สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป หรือแขกที่เข้าไปเยือนดูงานในชุมชน ขณะที่ภายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมดตะนอยเอง ก็มีกลายเป็นศูนย์กลางเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจรของชุมชน มีการจัดนิทรรศการรูปแบบการจัดการขยะแต่ละชนิด การแบ่งงานกันรับผิดชอบของแต่ละโซน ซึ่งมีทั้งหมด 4 โซน พัฒนาการจัดการขยะของชุมชนตั้งแต่ปี 2557 และเป้าหมายในปี 2565
ทั้งนี้ ชุมชนมดตะนอยเป็นชุมชนเล็กๆ ถนนทางเข้าหมู่บ้านก็คับแคบ และอยู่ติดชายฝั่งทะเล เดิมทีจะเต็มไปด้วยขยะในครัวเรือน และขยะที่มากับน้ำทะเล จึงทำให้ชาวชุมชนมดตะนอยเริ่มตระหนักในเรื่องการจัดการขยะ เพื่อให้ชุมชนสวยสะอาดน่ามอง จึงร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ชาวบ้านในชุมชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สู่การได้รับการรับรองจากกรมอนามัยให้เป็น “หมู่บ้านปลอดโฟม” ในปี 2560 โดยขยะครัวเรือนก็ใช้วิธีการคัดแยกกันเองทุกครัวเรือน ส่วนขยะทะเลที่ถูกน้ำทะเลหนุนเข้ามาตามลำคลอง ก็มีการใช้อวนดักจับขยะ เป็นจุดๆ รวม 5 จุด เพื่อป้องกันขยะทะเลขึ้นมาริมฝั่ง และป้องกันขยะครัวเรือนลงไปกับน้ำทะเล ทั้งนี้ ชาวชุมชนมดตะนอยเริ่มจัดการปัญหาขยะมาตั้งแต่ปี 2557 โดยผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้าน เกิดข้อตกลงของชุมชนร่วมกัน 6 ข้อ ได้แก่ 1.ทุกครัวเรือนมีการทำความสะอาดบ้านตนเองทุกวันศุกร์ 2.ร่วมรณรงค์การจัดการขยะในชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง 3.ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ 4.ทุกครัวเรือนมีการปลูกผักกินเองอย่างน้อย 5 ชนิด 5. ลดการใช้ภาชนะประเภทพลาสติก กล่องโฟม และ 6.ทุกบ้านที่มีโอ่งน้ำต้องใส่ปลากินลูกน้ำตัวผู้ 1 ตัว เมื่อชาวบ้านเริ่มเห็นว่าหมู่บ้านสะอาดขึ้น จึงร่วมมือร่วมใจเข้าร่วมและขยายผลไปทั้งหมู่บ้าน
ทางด้านนางหนึ่งหทัย สกุลส่องบุญศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านมดตะนอย เล่าว่า ในปี 2558 มีการตรวจพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านม ทำให้ชุมชนสนใจหาสาเหตุของการเกิดโรค และพบข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการใช้โฟมบรรจุอาหารเป็นระยะเวลานาน ทำให้คนในชุมชนสนใจเลิกใช้โฟมอย่างจริงจัง มีการขอความร่วมมือกับร้านค้าในโรงเรียน ร้านขายของในชุมชน และรถซาเล้งที่มาขายอาหารในหมู่บ้าน เลิกใช้โฟมบรรจุอาหาร และให้เด็กๆ และชาวบ้านนำภาชนะมาใส่อาหาร เครื่องดื่มแทน กระทั่งในปี 2559 ชุมชนบ้านมดตะนอยได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปราศจากโฟม และได้รับรองจากกรมอนามัยให้เป็นหมู่บ้านปลอดโฟมในปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้รับการสนุนสนุนจากภาคเอกชนอย่าง “เอสซีจี” ที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องการกำจัดขยะแบบองค์รวม รณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก จัดค่ายเยาวชนเสริมสร้างพลังเด็กสู่การกำจัดขยะแบบยั่งยืน
เกิดเป็น “โครงการทำดีให้ดาว” โดยทาง รพ.สต. ได้ประสานกับร้านค้า 15 ร้านในชุมชน ให้ “1 ดาวประเภทปกติ” แก่เด็กๆ ที่นำถ้วย แก้วน้ำ หรือถุงผ้า
มาใส่อาหาร เครื่องดื่ม สามารถสะสมดาวไปแลกของรางวัล เช่น แก้วน้ำ กล่องใส่ข้าว ถุงผ้าได้ที่ รพ.สต. รวมถึง “ดาวทอง 3 แต้ม” เมื่อทำกิจกรรมสร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะ เช่น การจัดการโดยใช้ขวดพลาสติกในการเก็บขยะแบบพกพา เมื่อขยะเต็มขวดสามารถนำมาแลกดาวได้ ทั้งนี้ ในชุมชนยังมีร้านค้ากว่า 30 ร้าน เข้าร่วมร้านค้าปลอดโฟม ลด ปฏิเสธ พลาสติก โดยให้คนในชุมชนนำแก้ว ถุง และภาชนะมาใส่ของ จะได้รับคูปองเพื่อลุ้นรางวัลทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับซาเล้งที่มาขายในหมู่บ้าน หากใช้โฟมเราจะไม่ให้ขายอย่างเด็ดขาด เรื่องขยะถ้าทำเป็นนิสัย เราจะสามารถเปลี่ยนได้อย่างถาวร นอกจากนี้ยังมีโครงการการจัดการขยะชุมชนชายฝั่งทะเล” โดยให้แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท เพื่อนำไปสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น นำเศษอวนมาทำถุงคัดแยกขยะแทนถุงดำ นำหลอดน้ำหวานมาตัดยัดทำหมอนให้ผู้สูงอายุ ใช้สำหรับรองแขนขณะบริจาคเลือด ,เศษผ้าขี้ริ้วและเศษอวนมาเย็บทำเป็นผ้าเช็ดเท้า , ขยะย่อยสลายยากมายัดขวดพลาสติกใช้แทนอิฐทำกำแพง ส่งให้กลุ่ม Trash Hero ขยะอันตราย จะนำส่ง อบต.เกาะลิบง เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี ,เปลือกมะพร้าวทำปู พะยูน , กะลามะพร้าว ทำเป็นโคมไฟ ของที่ระลึก เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการทำจุดเช็คอินบริเวณชายหาดจากขยะที่นำมาแขวนประดับประดา เป็นข้อความมดตะนอยให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเป็นจุดเช็คอิน โดยขยะทุกชิ้นทั้งจากในครัวเรือน หรือจากทะเล หากเป็นขยะที่ย่อยสลายยากจะต้องมีที่ไป โดยเฉพาะขยะทะเล เช่น ไฟแชค รองเท้า พลาสติก และโฟม ซึ่งเป็นขยะที่นิยมพบมากที่สุด จะต้องมีที่ไป
ทางด้านณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านมดตะนอย กล่าวว่า จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ สามารถลดขยะในชุมชนทั้งที่เกิดจากครัวเรือน และขยะทะเลได้ประมาณ 80% โดยชาวบ้านทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยในส่วนของขยะทะเลที่ขึ้นมากับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นมาในลำคลองสาขา ทางชุมชนก็ได้ติดตั้งอวนขวางไว้กลางคลอง กว้างประมาณ 60 เมตร เป็นระยะๆรวมทั้งหมด 5 จุด หรือ 5 ชั้น ของลำคลอง เมื่อน้ำทะเลหนุนมีขยะขึ้นมา หรือน้ำทะเลลงขยะจากบ้านเรือนก็จะไม่ลงทะเลไปกับน้ำ แต่จะติดอยู่กับอวน ชาวบ้านก็จะลงไปเก็บขยะในเวลาน้ำลง ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 บ้านมดตะนอยจะเป็นชุมชนปลอดขยะ 100 % และพร้อมที่จะเป็นถ่ายทอดการจัดการขยะชุมชนชายฝั่งให้แก่สังคมภายนอก จึงมีหน่วยงานต่างๆเดินทางไปศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: