เชียงราย-กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำ “โครงการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยพลังชุมชน” วางรากฐานแก่บุคคลในการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ หวังจุดประกายให้สังคมเกิดค่านิยมใหม่ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม สอดคล้องกับธรรมชาติสมอง และพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย รากฐานการปฏิรูปการศึกษา เริ่มที่การพัฒนาทักษะสมองเด็กปฐมวัย เกิดขึ้นและเป็นจริงได้…ด้วยพลังชุมชน
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้การสนับสนุนสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) จัดทำ “โครงการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยพลังชุมชน” เพื่อสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นมีความสำคัญ ด้วยเป็นการวางรากฐานแก่บุคคลในการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ หวังจุดประกายให้สังคมเกิดค่านิยมใหม่ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม สอดคล้องกับธรรมชาติสมอง และพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างสถาบันอาร์แอลจี และภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ด้านวิชาการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษาปฐมวัย จิตแพทย์เด็ก และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ได้ร่วมกันจัดการความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า Executive Functions หรือ EF ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ มาพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย และนำไปเผยแพร่ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนความรู้ EF ในกลุ่มแกนนำระดับท้องถิ่น จนเกิดเป็นพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบ และพื้นที่ขยายผล EF ซึ่งได้นำองค์ความรู้นี้ไปบูรณาการในแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นของตนอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การประเมินวัดค่าทักษะสมอง EF ของเด็กปฐมวัยในแต่ละพื้นที่สูงขึ้น พบว่าพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนดีขึ้น เด็กๆ มีความสุขมากขึ้น มีทักษะความพร้อมในการเรียนรู้ตามวัยมากขึ้น ซึ่งมีปัจจัยความสำเร็จมาจากการที่ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และโดยเฉพาะผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในระดับท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าตั้งแต่ปฐมวัย และร่วมกันนำแนวทางการส่งเสริมทักษะสมอง EF ไปใช้ในการพัฒนาเด็กในชุมชนของต้นอย่างจริงจัง
เมื่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้รับทราบถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นนี้ จึงได้สนับสนุนให้สถาบันอาร์แอลจี ผลิตสื่อสารคดีสั้น และวิดีโอคลิป รวม 21 เรื่อง ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้รณรงค์ให้สังคมทราบถึง Best practices จากพื้นที่ส่งเสริม EF 3 แห่งที่เราได้ร่วมกันขับเคลื่อนความรู้ EF ได้แก่ พื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงรายโดยเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอพญาเม็งราย มีแพทย์หญิงอัมพวัน ศรีครุฑรานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาเม็งรายเป็นแกนนำ พื้นที่ต้นแบบอำเภอมาบตาพุด และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองภายใต้การขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมของภาคเอกชน ดาว-อีเอฟ โดยกลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย และพื้นที่ขยายผล EF จังหวัดลำปางโดยเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดลำปาง
นางสุภาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า การวางรากฐานการปฏิรูปการศึกษา ที่จำเป็นต้องเริ่มที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็ก “อยู่ในมือของชุมชน” ดังนั้นชุมชนคือสภาพแวดล้อมสำคัญที่จะทำหน้าที่ดูแล พัฒนา บ่มเพาะ ปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้งปวงแก่เด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติของสมอง จะมีคุณลักษณะพร้อมเป็น “พลเมืองคุณภาพ” ของชาติได้ในอนาคต เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมจะเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของชุมชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงเราอยากผลักดันให้ผู้นำ ผู้กำหนดนโยบายทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และตระหนักว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ดี คือการวางรากฐานการศึกษาที่เข้มแข็งของชีวิต
ดังที่นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียนชื่อดัง เคยได้กล่าวปาฐกถาไว้ในงานประชุมวิชาการ EF Symposium 2017 จัดโดยภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ว่า “เราอยากให้เด็กทุกคนทั้งประเทศพัฒนาไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งเด็กสักคนไว้ข้างหลัง เราเคยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ด้วยความรู้เรื่อง EF และทักษะศตวรรษที่ 21 เราพบว่า เราทำได้แล้ว”
ในขณะที่ อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย และอดีตอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระด้านการศึกษาฯ ผู้มีบทบาทในการผลักดันพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ปี 2562 แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญภาวะวิกฤตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจำนวนเด็กเกิดน้อยลง การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ความผันผวนของสังคมและเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากภาวะ Digital Disruption เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเด็กไทยของเราทุกคนให้เป็นพลเมืองคุณภาพ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยไปได้
ถึงแม้จะดูคล้ายกับว่าเรามีปัญหารุมเร้าหลายด้าน แต่เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยบวก เราก็พบว่าขณะนี้ประเทศไทยก็มีแรงหนุนจากปัจจัยบวกหลายด้านเช่นกัน เช่น พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย ปี 2562 ก็ออกมาแล้ว นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการก็ได้บรรจุเรื่องการพัฒนาทักษะสมองไว้แล้ว ความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF ก็มีแล้ว ทั้งยังมีความพยายามในการปลดล็อคข้อจำกัดทางด้านการศึกษาต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่นชุมชนในการจัดการศึกษาด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเราสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ ฉะนั้นพลังชุมชน จึงเป็นกลไกหลักสำคัญในการนำนโยบายเหล่านี้ไปใช้ในทางปฏิบัติ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นรูปธรรมที่ควรเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ก็อยากให้ชมจากสารคดีสั้นและวิดีโอคลิปทั้ง 21 เรื่องนี้ ซึ่งจะได้เห็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัย จากชุมชนทั้ง 3 แห่งเป็นผู้ถ่ายทอดด้วยตัวของเขาเอง เมื่อชุมชนมองว่าเด็กทุกคนคือลูกหลานของเขา โดยไม่แบ่งแยก มันคือพลังของชุมชนเอง ที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองของชาติ และถ่ายทอดสิ่งดีงามเหล่านี้สู่ลูกหลานของเราต่อไป อาจารย์ธิดากล่าวปิดท้าย
ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/RLGEF/ ชมตัวอย่างสารคดี “บ่อน้ำบ่อทราย : พลังครู พลังพ่อแม่ พลังชุมชน พลังจิตอาสา องค์ประกอบหลักสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=cshS9LXAplI&list=PL2kRXcspV23B_dqHMljUmjMajUunaqjDh&index=2
รับชม สารคดีสั้นและวิดีโอคลิป ชุด “สมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน” ทั้งหมด ได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UCpRPMd0mFyZu0zn14qU1yyg
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: