ระวัง…นำเข้ามะพร้าวถ้าไม่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ อาจทำให้ประชาธิปัตย์เสียรังวัดได้เช่นกัน ;นายหัวไทร
มติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีมติเห็นชอบการจัดสรรปริมาณนำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบความตกลงอาฟตา ปี 2562 สำหรับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 ให้กับผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวที่มีคุณสมบัติและเป็นผู้มีสิทธิจำนวน 15 ราย ปริมาณ 3.2 หมื่นตัน จากก่อนหน้านี้ขอนำเข้า 1.3 แสนตัน ทั้งนี้การประกาศนำเข้าต้องเป็นไปตามประกาศที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด
สถานการณ์การส่งออกกะทิในปี 2562 มีปริมาณการส่งออกตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 2562 จำนวน 150,604 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,465 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% และ 5% ตามลำดับ ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกจะเติบโตจากปี 2561 แต่เมื่อคำนวณกลับมาเป็นราคาสินค้าต่อหน่วยแล้วกลับพบว่าราคาสินค้าต่อหน่วยที่ขายได้ในปี 2561 นั้นราคา 52,900 บาทต่อตัน ปัจจุบันราคา 49,600 บาทต่อตัน
ก่อนหน้านี้ราคามะพร้าวคละ 15 บาท/ลูก ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงมากในช่วงระยะเวลาสั้นคงไม่เป็นไร หรือราคาสูง-ต่ำ เป็นช่วง ๆ อย่างน้อยมีตัวเฉลี่ยราคา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่าเรา 2-3 เท่า ตลาดจะเป็นคนบอกเองว่าจะซื้อน้อยลงไปซื้อที่อื่นมากขึ้น ก็เข้าใจเกษตรกรว่าอยากให้ราคาดีปรับตัวสูงขึ้น ๆ แต่อยากให้ดูต้นทุนว่าผู้ส่งออกจะไปแข่งกับเพื่อนบ้านได้หรือไม่ ดังนั้นถ้าไม่ย้ายฐานการผลิตไปก็จะเสียตลาดให้เพื่อนบ้านไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา ไทยจะได้เปรียบเรื่องมาตรฐาน ความน่าเชื่อถือ แต่เมื่อราคาขายถูกกว่าไทยจะค่อย ๆ กินตลาดไปเรื่อย ประกอบกับมีผู้ประกอบการไทยบางรายไปลงทุนอินโดนีเซียแล้ว หลายปัจจัยประกอบกันไม่ใช่แค่ราคาวัตถุดิบอย่างเดียว ยังมีค่าแรง ค่าเงินบาท และตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดสำคัญด้วย เมื่อย้ายฐานไปแล้วการผลิตจึงไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบก็คือเทียบเท่ากับเมืองไทย ต่อไปเกษตรกรจะเดือดร้อนของจริงแล้ว
“สุดท้ายเหมือนดีใจชั่วคราว แต่ยาว ๆ อยู่กันไม่ได้ มีเรื่องขายในประเทศ ส่งออกสินค้าเกษตรคล้ายคลึงกัน อะไรที่ขายในประเทศราคาแพงอยู่แล้ว ได้ราคาดีกว่าเพราะไปถึงผู้บริโภคโดยตรง แต่ว่าส่งออกไปผ่านอะไรหลายด่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ด่านค้าปลีก ทุกอย่างมีต้นทุนแฝงหมด แค่ราคาต้นทุนในประเทศเท่ากันกับเพื่อนบ้านก็ส่งออกยากแล้ว”
ตอนนี้ตลาดกะทิ ชะลอตัวตามกระแสนักท่องเที่ยวที่ลดลง ปีก่อนหน้ามีคนเข้าช่วยแชร์อยู่ที่ 32 ล้านคนปีนี้น่าจะไม่หวือหวานักนอกจากบริโภคในเมืองไทย นักท่องเที่ยวเข้ามาบริโภคอาหารที่มีกะทิหรือแม้กระทั่งมะพร้าวน้ำหอมจะขายดีตามเทรนด์ของตลาดท่องเที่ยวด้วย
ตอนนี้มะพร้าวในพื้นที่ไม่เพียงพอ ขอให้สามารถนำเข้ามะพร้าวมาช่วยให้มีรายได้ โรงรับซื้อและชาวบ้านที่รับจ้างกะเทาะมะพร้าวในจังหวัดสมุทรสงครามอยากให้เปิดการนำเข้าเพื่อรักษาอาชีพการกระเทาะมะพร้าว เพราะมะพร้าวในประเทศไม่เพียงพอและราคาสูง ตอนนี้ชาวบ้านที่รับจ้างกระเทาะไม่มีรายได้เลย เนื่องจากไม่มีมะพร้าวให้กระเทาะแล้ว ขณะที่ By product เช่น กะลา ขายได้ราคาต่ำลงเหลือกิโลกรัมโลละ 1.50 บาท จากเดิม 4.50 บาท
ส่วนราคามะพร้าวจากจ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งมาถึงสมุทรสาคร ราคา 16-18 บาท โรงรับซื้อเริ่มสู้ราคาไม่ไหว หากนำมากระเทาะเอง ขณะนี้เริ่มรับเนื้อขาวจากลูกบ้านแทนการซื้อมะพร้าวผลจากประจวบฯมากระเทาะ ราคารับซื้อ 28-30 บาท เป็นราคาใกล้เคียงกับราคารับซื้อของโรงงาน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินความต้องการมะพร้าวผลรวมทั้งประเทศในปี 2562 โดยรวมทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออก ที่ประมาณ 1.1 ล้านตัน ในขณะที่ข้อมูลผลผลิตในประเทศจากการสำรวจมีเพียง 8.78 แสนตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของทั้งประเทศ
การอนุมัตินำเข้ามะพร้าวมีเสียงสะท้อนเชิงคัดค้าน ไม่เห็นด้วยจำนวนไม่น้อย กับหลากหลายคำถามที่คาใจ เช่น
ไม่มีใครได้อะไร…!!!
– รัฐ ก็ไม่ได้เงินภาษีนำเข้า
(อาฟต้า 0%)
– ชาวสวนมะพร้าว ก็ขายมะพร้าวราคาต่ำลง
(นำเข้า ทำให้ปริมาณมะพร้าวตลาดมากขึ้น)
– ประชาชน,ผู้บริโภค ก็ยังคงใช้น้ำมันพืชมะพร้าว, ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ในราคาเท่าเดิม
(หรืออาจสูงขึ้น เพราะเป็นมะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ)
– พ่อค้า ซื้อมะพร้าวนำเข้าในราคาต่ำลง ไม่ต้องจ่ายภาษี(อาฟต้า 0%)
ซื้อมะพร้าวในประเทศราคาต่ำลง
(เพราะปริมาณมะพร้าวในตลาดมากขึ้น)
แต่ขายตลาดในประเทศ ราคาเท่าเดิม หรือสูงขึ้น
– พวกราชการ นักการเมือง
อาจจะได้หัวคิวบ้าง (มั้ง)
ก็แค่นั้นแหละ จริงๆ…!!!
พลังประชารัฐ ค้านจุรินนท์นำเข้ามะพร้าว
สายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ โฆษกคณะกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ออกโรงค้านทันที กรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะมีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศจำนวน 3.2 หมื่นตัน ถ้าคิดเป็นลูกราว 26 ล้านลูก เพราะเขาเป็นคนอภิปรายในสภาเรื่องราคามะพร้าวตกต่ำ จนราคาดีดตัวดีขึ้น แล้วจู่ๆรัฐจะสั่งนำเข้ามะพร้าวเข้ามาตีตลาดในประเทศ
สายัณห์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ราคามะพร้าวในเมืองไทยตกต่ำเหลือราคาลูกละ 4-5 บาท เมื่อตนอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรราคามะพร้าวของขยับขึ้นวันละ 1 บาท/ลูกและราคาไปหยุดอยู่ที่ลูกละ 15 บาท เกษตรกรก็พอใจ และอยู่ได้ โดยในขณะนั้นราคายางพาราก็ยังไม่ขึ้น ราคาปาล์มก็ดีขึ้น
วันนี้ผมยืนยันว่าปริมาณมะพร้าวของไทยไม่ได้ขาดตลาดมากมายถึงขนาดนั้น แต่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำเข้ามะพร้าว 3.2 หมื่นนจะส่งผลกระทบกับราคามะพร้าวในเมืองไทยอย่างแน่นอน ซึ่งกรนำเข้านั้นเพียงเพื่อผลประโยชน์ของโรงงานผลิตมะพร้าวสำเร็จรูป ตนอยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้ทบทวนมาตรการการนำเข้ามะพร้าว ทำไมต้อง 3.2 หมื่นตัน ซึ่งจริง ๆ ขาดตลาดแค่ 5 พันตัน เมื่อเปิดให้นำเข้าทั่วประเทศโดยไร้มาตรการในการตรวจสอบ เข้ามาได้ทุกประตูต่างคนก็ต่างนำเข้า และถ้าหาราคามะพร้าวไทยตกต่ำลงมาเหลือ 10 บาท /กก.รัฐมนตรีพาณิชย์จะรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งตนจะออกมาต่อสู้ในเรื่องทั้งในและนอกสภา อย่างไรก็ตามหากท่านจุรินทร์ ออกมาประกาศว่ายืนยันจะนำเขามะพร้าวและหากทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำจากในปัจจุบันลูกละ 15 บาท รัฐมนตรีจะรับผิดชอบด้วยการลาออกตนจะยอมรับให้นำเข้ามะพร้าว 3.2 หมื่นต้นได้
การนำเข้ามะพร้าวจ่ายภาษี 54 % แต่สามารถยื่นขอคืนได้ 100% หลังจากส่งออกเป็นน้ำกะทิแปรรูปแล้ว นั้นก็แปลความว่า การนำเข้ามะพร้าวไม่ต้องเสียภาษีนั้นเอง และเป็นไปตามกรอบของ FTA
ราคามะพร้าวในต่างประเทศ อย่างอินโดนีเซียเวลานี้ตกประมาณลูกละ 5-6 บาท เมื่อบวกภาษี 54% ราคาจะตกประมาณลูกละ 9 บาทกว่า ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับบ้านเรา เพียงแต่สามารถขอคืนภาษีได้ในภายหลังเท่านั้น
การอนุมัตินำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศถ้าไม่อธิบายดีๆ ให้ประชาชนเข้าใจ ก็จะเป็นอีกประเด็นทึ่ทำให้ประชาธิปัตย์เสียรังวัดได้เช่นกันนะจะบอกให้
ด้วยความเคราพ
นายหัวไทร
18 ธันวาคม 2562
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: