ฉะเชิงเทรา – ดับเบิ้ลพี เดินหน้าสำรวจจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประกอบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ ไม่สนเสียงค้านจาก 30 นักเคลื่อนไหวที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางผู้คนที่เดินทางเข้ามาร่วมนับพัน ขณะเอ็นจีโอสายอนุรักษ์ลุ่มน้ำห่วงสงครามแย่งชิงทรัพยากร และการบำบัดกากของเสีย
วันที่ 18 ธ.ค.62 เวลา 09.30-12.00 น. ที่โดมอาคารเอนกประสงค์ อบต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา บริษัทดับเบิ้ลพีแลนด์ ผู้พัฒนาพื้นที่จำนวนกว่า 1.8 พันไร่ เพื่อทำการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ ได้เดินทางหน้าจัดเวทีรับฟังสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กม. รวม 16 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ข่าวน่าสนใจ:
ประกอบด้วย เทศบาลตำบลท่าข้าม เทศบาลตำบลบางปะกง เทศบาลตำบลบางปะกงพรหมเทพรังสรรค์ เทศบาลตำบลบางวัวคณารักษ์ เทศบาลตำบลบางวัว เทศบาลตำบลท่าสะอ้าน เทศบาลตำบลบางสมัคร อบต.ท่าสะอ้าน อบต.เขาดิน อบต.บางผึ้ง อบต.หนองจอก อบต.บางเกลือ อ.บางปะกง อบต.คลองบ้านโพธิ์ เทศบาลตำบลแสนภูดาษ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะ เชิงเทรา และ อบต.เกาะลอยบางหัก อบต.บางนาง อ.พานทอง จ.ชลบุรี
โดยมีประชาชนเดินทางมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากถึงกว่า 1,000 คน จนเต็มล้นภายในบริเวณโดมออกมาอยู่ยังที่นั่งเต็นท์ด้านนอก จนทำให้เอกสารที่มีการจัดเตรียมไว้จำนวนกว่า 900 ชุดไม่พอแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่พากันเดินทางมาเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้
ซึ่งระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยวาจา ได้มีผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนหลายราย โดยบางรายมีความกังวลถึงเรื่องคูคลองเดิมในพื้นที่ก่อตั้งนิคมฯ ว่าจะถูกถมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบจากทางผู้พัฒนาพื้นที่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่บางรายกังวลถึงความเป็นไปได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ยังคงดำเนินกิจการด้านพลังงานเชื้อเพลิงในประเทศอยู่
ตลอดจนแนวทางการกำจัดของเสียจากกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วหมดอายุ และปัญหาเรื่องแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ภายในนิคมอุตสาหกรรมว่าจะนำมาจากไหน หลังจากสถานการณ์น้ำดิบต้นทุนในพื้นที่ไม่เพียงพออยู่ในขณะนี้ และน้ำเสียจากการบำบัดแล้วส่วนเกินอีกร้อยละ 85 จะนำไปทิ้งที่ใด การกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกกฎหมายจะทำอย่างไร เนื่องจากปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทั้งจังหวัด ยังมีการดำเนินการกันอย่างไม่ถูกต้อง
การลดปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนจะทำอย่างไร หากมีการใช้พื้นที่เคยรับน้ำเป็นพื้นที่จัดตั้งโรงงาน อีกทั้งยังมีการเร่งรัดขอให้เริ่มทำ EHIA หรือกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ในโครงการ ตามที่ผู้พัฒนาพื้นที่เสนอไว้ในรายงานทั้งที่ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมประเภทนี้ต้องทำ
ขณะบางรายได้มีความกังวลต่อปัญหาด้านการจราจร ที่เส้นทางคมนาคมเดิมในพื้นที่ยังมีความคับแคบ และบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน การพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน การรับคนพื้นที่เข้าทำงานเป็นลำดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่ได้มีการคัดค้านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
เพียงแต่เป็นการเข้ามาแสดงความคิดเห็นในลักษณะของการเป็นห่วงกังวลต่อพื้นที่ โดยที่มีประชาชนบางส่วน ที่มีความคิดเห็นและมองต่างมุมว่า ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเวทีวันนี้ มีความวิตกกังวลมากจนเกินไป ทั้งที่ปัญหาต่างๆ นั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น และอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามที่ได้มีความวิตกกังวลกันไปก่อนอยู่ในขณะนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: