กระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนระมัดระวัง “โรคไข้ฉี่หนู” แพร่ระบาดในช่วงหน้าฝน ล่าสุด พบผู้ป่วยแล้ว 845 ราย ผู้เสียชีวิต 6 ราย แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 845 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย
ส่วนอาชีพที่พบสูงสุดคือ เกษตรกรรมร้อยละ 45.7 รองลงมาคืออาชีพรับจ้างร้อยละ 20.8 กลุ่มอายุที่พบว่ามีอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี รองลงมา 45-54 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก คือ ศรีสะเกษ พังงา ตรัง ยะลา นครศรีธรรมราช เลย พัทลุง ยโสธร กาฬสินธุ์ และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ
สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ อาจทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น โดยโรคไข้ฉี่หนูเกิดจากแบคทีเรียในฉี่ของหนู โค กระบือ สุกร สุนัข ที่ติดเชื้อ เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำดินที่เปียกชื้นในแอ่งน้ำขังเล็กๆ โดยเชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังผ่านแผลถลอก ขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก และยังไชเข้าผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ
ข่าวน่าสนใจ:
- ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงผลปฏิบัติการ “พิฆาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้” ยึดยาบ้ากว่า 400,000 เม็ด
- แชร์สนั่น! ซอไม้ไผ่ สุดยอดนวัตกรรมดนตรีวัยรุ่นยุคใหม่ เท่อย่างไทยสู่สากล
- ปราจีนบุรี สลดหนุ่ม 45 ถูกช้างป่าอ่างฤาไนทำร้ายเสียชีวิต
- "เลยดั้น" แค่มุมภาพเดียว กลายเป็นไวรัล ดึงดูด นทท.แห่เช็คอินถ่ายภาพ อ.น้ำหนาวเตรียมดันเป็นซอฟพาวเวอร์
สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากประชาชนมีการแช่น้ำหรือโคลนเป็นเวลานานและเท้าอาจเป็นแผลทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทั้งนี้ หากประชาชนมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการเดินลุยน้ำ ควรรีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ลุยโคลน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง ถ้ามีแผลควรปิดด้วยวัสดุกันน้ำ และไม่ควรเดินย่ำในพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะบริเวณแอ่งน้ำขังเล็กๆ หรือในดินโคลนช่วงทำความสะอาดบ้าน เนื่องจากปริมาณเชื้อฉี่หนูจะมีความเข้มข้นสูง ทำให้ผู้ที่มีบาดแผลหรือมีรอยถลอกที่บริเวณเท้า ขา หรือมือจะเพิ่มความเสี่ยงสูงมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: