X

ชลประทานยันป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ทะลักเข้าพื้นที่คู คลอง ในจังหวัดราชบุรีได้

  จากกรณีที่หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาเรื่องของน้ำเค็มที่ทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ส่งผลกระทบในหลายๆด้าน ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค  ด้านการเกษตร และเลี้ยงสัตว์  สาเหตุมาจากปัญหาภัยแล้ง  ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย  ทำให้ช่วงน้ำทะลุหนุนนั้นไม่มีน้ำจืดผลักดันน้ำเค็มให้ออกไป

         ซึ่ง จ.ราชบุรี ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งเคยเกิดปัญหาน้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่ใน ปีพ.ศ.2558  ที่ผ่านมาในช่วงนั้นส่งผลให้ประชาชนที่ปลูกพืชผักได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง  จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานนั้นได้นำเอาปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ ในปีพ.ศ.2558 นั้น มาเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหา  และมาเป็นแนวทางในการป้องกันน้ำเค็ม ทะลักเข้าตามคู คลองต่างๆ เนื่องจากจังหวัดราชบุรี นั้นมีพื้นที่ติดต่อกับสองจังหวัดที่อยู่ติดกับทะเล  คือจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม

ในวันนี้(7 ม.ค.63) ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปพูดคุยกับนายสัญญา  อี้โค้ว  อายุ 74 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 3  ต.ท่าคา  อ.อัมพวา  จ.สมุทรสงคราม   ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมในเขตรอยต่อ ระหว่าง จ.ราชบุรี และจ.สมุทรสงคราม  ก็บอกว่าตั้งแต่ทางชลประทานมาสร้างประตูกั้นน้ำเค็มบริเวณคลองลำประโดง  ก็ทำให้น้ำเค็มนั้นไม่เข้ามาในพื้นที่  ถึงแม้จะมีมาบ้างแต่ก็น้อย  ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร  เพราะตนเองนั้นปลูกมะพร้าวน้ำเค็มจึงไม่มีผลอะไร  แต่ถ้าเข้ามามากๆก็จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกพืชล้มลุก

     ด้านนายเฉลิมวรรษ   อินทชัยศรี  นายช่างชลประทานอาวุโส  และเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน  ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก   สำนักชลประทานที่ 13  กรมชลประทาน  ก็บอกว่า ทางสำนักได้นำปัญหาน้ำเค็มรุกใน ปีพ.ศ.2558  มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางป้องกัน  จนทำให้ในปีนี้ที่อื่นอาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มที่ทะลักเข้ามา  แต่ในพื้นที่จ.ราชบุรี นั้นขอยืนยันได้ว่าขณะนี้น้ำเค็มนั้นยังไม่ทะลักเข้ามาในพื้นที่ เพราะมีการสร้างประตูระบายน้ำในทางคลองสายหลักหลายแห่งที่ติดต่อกับพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และจ.สมุทรสาคร   เพื่อปิดกั้นน้ำเค็มทะลักเข้ามา  และจะมีการตรวจวัดค่าความเค็มในน้ำทุกวัน ถ้ามีน้ำเค็มเข้ามามากเกินไป  ทางชลประทานก็จะสามารถปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนในจ.กาญจนบุรี เข้ามาไล่น้ำเค็มออกได้  จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร  ประกอบกับในช่วงนี้น้ำทะเลไม่หนุนจึงยังไม่มีผลกระทบอะไรกับประชาชน ทั้งในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก และอำเภอบางแพ  ซึ่งอยู่กับสองจังหวัดที่ติดทะเล

    ส่วนเรื่องของภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้เป็นช่วงระยะเวลา คาดการณ์น้ำต้นทุนของเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 9,200 ล้าน ลบ.ม. วางแผนจัดสรรน้ำไว้ทั้งหมด 5,700 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการเกษตร 3,180 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค บริโภค 460 ล้านลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศน์รวมทั้งระบบอื่นๆ 2,060 ล้าน ลบ.ม. สนับสนุนการเพาะปลูกประมาณ 2.07 ล้านไร่ คาดว่าตามแผนที่ทางกรมชลประทานวางไว้ จะทำให้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ราชบุรี ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี