เกษตรกรชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ในพื้นที่นอกเขตชลประทานยิ้มได้ หลังโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ของกรมทัพยากรน้ำบาดาลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขุดบ่อบาดาลลึก 62 เมตรให้พื้นที่กลางทุ่งแล้งเกือบ 100 ไร่ มีน้ำเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 นายสุเทพ ชัยวัฒน์ นายอำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการประกอบอาชีพของเกษตรกร ต.หัวหิน และ ต.โนนสะอาด อ.ห้วยเม็ก เขตรอยต่อกับ ต.เว่อ อ.ยางตลาด โดยพบว่าเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ได้มีการปรับตัวเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ทั้งนี้ ได้ประชาสัมพันธ์การใช้น้ำ ทั้งน้ำประปาใต้ดินบนดิน และน้ำที่เหลือในบ่อ ที่ได้จากการกักเก็บน้ำฝน เพื่อการอุปโภคบริโภค อย่างประหยัด เพื่อให้ข้ามพ้นหน้าแล้งไปได้
นายสุเทพ ชัยวัฒน์ นายอำเภอห้วยเม็กกล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ พบว่าชาวบ้าน และเกษตรกรในกลุ่มที่ประกอบอาชีพปลูกพืชผักเพื่อการค้า หรือการยังชีพ มีการปรับตัวเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะน้ำที่กำลังขาดแคลน โดยลดพื้นที่การเพาะปลูก ปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน้ำประปาที่ใช้ในครัวเรือนนั้น ยังไม่มีรายงานว่าขาดแคลน แต่ก็ประชาสัมพันธ์ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังกำชับผู้นำชุมชนเร่งสำรวจความต้องการ พร้อมเฝ้าระวังปัญหาและผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน
ด้านนายจันทร์เพ็ญ ไชยสุทธิ์ อายุ 53 ปี สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตรอยต่อ ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก กล่าวว่า เนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทาน สภาพเหมือนอยู่กลางทุ่งแล้ง ทุกปีที่ผ่านมาอาศัยน้ำจากน้ำฝนเป็นหลัก ฤดูแล้งบางปีปลูกมันสำปะหลัง แต่ระยะหลังปล่อยทิ้งไว้เพราะแห้งแล้งมาก ทำให้ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในฤดูแล้ง แต่ก็พยายามสู้ภัยแล้ง โดยหันมาปลูกมันเทศและถั่วฝักยาว เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตเป็นอาหารในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน เพื่อเป็นรายได้เสริมในฤดูแล้งเท่านั้น
นายจันทร์เพ็ญกล่าวอีกว่า เมื่อพื้นที่ทำกินอยู่กลางทุ่งแล้ง และเสียโอกาสในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในฤดูแล้งดังกล่าว จึงได้ร่วมกับเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ติดต่อกัน ขอรับการสนับสนุนด้านบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร ผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ก่อนที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ของกรมทัพยากรน้ำบาดาลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2562 โดยขุดบ่อบาดาลลึก 62 เมตร สามารถดึงน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ปริมาณ 8 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง พื้นที่รับบริการ 95 ไร่ ซึ่งทำให้เกษตรกรกลางทุ่งแล้งมีน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งอย่างพอเพียง ซึ่งก็จะใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: