ตรัง – ผลจากความร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรของชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ทำให้ทะเลตรังอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงแห่วางอวนจับกุ้งที่มีอย่างชุกชุม ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างยั่งยืน
วันที่ 20 มกราคม 2563 นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ได้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ออกลาดตระเวนตรวจตราการทำประมงในพื้นที่ และเฝ้าระวังพะยูน โดยการออกพบปะ และขอความร่วมมือกับชาวประมงในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งสอดส่องการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายกับสัตว์ทะเลหายาก ประเภท พะยูน เต่าทะเล และโลมา พร้อมกันนี้ยังได้พบเห็นชาวประมงในพื้นที่ออกจับสัตว์น้ำทะเลใกล้บริเวณชายฝั่งซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ โดยสามารถจับสัตว์ทั้งการตกหมึก และโดยเฉพาะการวางอวนจับกุ้ง โดยพบว่ามีเรือประมงขนาดเล็กของชาวบ้านริมชายฝั่งออกจับสัตว์น้ำที่มีอย่างชุกชุมได้เป็นจำนวนมาก
นายเฉด ตูเต๊ะ อายุ 64 ปี ชาวบ้านเกาะเคี่ยม ต.กันตังใต้ ซึ่งออกมาวางอวนจับกุ้งทุกวัน ยกเว้นช่วงที่เป็นน้ำตาย กล่าวว่า สามารถจับกุ้งได้ทุกวันๆละ 1,000 – 2,000 บาท โดยกุ้งแชร์บ๊วยตัวใหญ่จะขายราคาก.ก.ละ 300 บาท หากเป็นกุ้งลาย (กุ้งลักษณะลายเสือตัวใหญ่) จะขายก.ก.ละ 500 บาท ซึ่งคนซื้อไปสามารถนำไปขายต่อได้ราคากิโลกรัมละนับพันบาท ทั้งนี้ชาวบ้านจะจับกุ้งได้เฉพาะในช่วงน้ำใหญ่ ส่วนช่วงน้ำตายต้องหยุด หรือหาได้เดือนละประมาณ 15 -16 วัน เท่านั้น พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทำการกวดขัน กวาดล้าง จับกุม ว่าขณะนี้มีภัยคุกคามทรัพยากรคือ มีการลักลอบทำประมงอวนรุนในพื้นที่อีกแล้ว ปราบเท่าไรก็ไม่หมด โดยอวนรุนถือเป็นเครื่องมือทำประมงผิดกฎหมายแบบ ทำลายล้าง เพราะตาอวนมีขนาดเล็กและกวาดสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ที่ยังไม่ได้ขนาด หวั่นสัตว์น้ำสูญพันธ์
นายชัยพฤกษ์ วีระวงษ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า มาตรวจเยี่ยมการทำประมงทางทะเลของชาวบ้านชายฝั่งทะเล ก็พบว่ามีเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจำนวนมากออกมาทำประมงโดยการวางอวนจับกุ้ง ซึ่งปรากฏว่าได้กุ้งจำนวนมาก ทั้งกุ้งแชร์บ๊วย กุ้งลาย ทั้งนี้ เป็นผลจากที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือแรมซ่าร์ไซท์ และล่าสุด ได้รับการรับรองเป็นมรดกอาเซียน ผลจากการช่วยกันดูแลทรัพยากรทำให้พี่น้องประมงพื้นบ้านไม่ต้องออกไปจับปลาไกลๆ ออกจากบ้านมาทะเลหน้าบ้านในระยะไม่ไกลมากนักใกล้ๆ เกาะลิบง ก็สามารถจับกุ้งได้แล้วเป็นจำนวนมาก ได้ทุกวันเฉพาะในช่วงน้ำใหญ่ แต่จะหยุดในช่วงน้ำตาย ทั้งกุ้งแชร์บ๊วย กุ้งลาย ไซด์ใหญ่ ได้ทุกวันๆ ละ 3 – 4 พันบาท ซึ่งเป็นผลจากการดูแลทรัพยากรร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ และขณะนี้เราได้รับการประกาศเป็นอุทยานมรดกอาเซียน จึงยังต้องเดินหน้าร่วมกันดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ต่อไป ก็จะทำให้เรามีอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไว้ในบ้านเราเอง เพื่อไว้รับประทาน ให้ลูกหลานเราได้ชื่นชม ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องเรือประมงอวนรุนที่ยังมีชาวบ้านบางส่วนลักลอบทำอยู่ ทางเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการกวดขัน กวาดล้างจับกุมต่อไป เพื่อรักษาทรัพยากรให้คงความอุดมสมบูรณ์ต่อไปอย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: