นครพนม – วันที่ 13 ก.ค.61 บริเวณริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายงานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช (7-13 ก.ค.) 7 วัน 7 คืน โดยในแต่ละวันจะมีนางรำจาก 8 ชนเผ่า และ 2 เชื้อชาติ(จีน,เวียดนาม) สับเปลี่ยนหมุนเวียนนำท่ารำอันเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่ามาแสดงแก่นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม โดยแบ่งออกเป็น 4 ชุด ได้แก่รำศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นชุดรำประจำจังหวัดนครพนม มีนางรำจากกลุ่มสตรีศรีโคตรบูรณ์เขตเทศบาลเมืองฯ จำนวน 180 คน ประสานใจร่ายรำอย่างเต็มกำลัง ชุดสองรำเอกลักษณ์ของจังหวัด ชุดสามรำเอกลักษณ์ประจำชนเผ่า ซึ่งวันสุดท้ายนี้เป็นคิวของชนเผ่าไทยญ้อ(ย้อ) อ.ท่าอุเทน และ อ.บ้านแพง นางรำจำนวน 580 ชีวิต
การฟ้อนรำไทยญ้อ เป็นศิลปะการแสดงและการละเล่นอย่างหนึ่ง ที่มักจะพบในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลสำคัญต่างๆ เป็นการฟ้อนรำระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาว มีการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี ในท่าฟ้อนที่สวยงามตามแบบฉบับของชาวไทยญ้อ ส่วนการแต่งกายชายจะสวมเสื้อคอพวงมาลัยสีเขียวสด นุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำเงินเข้ม เครื่องประดับสร้อยเงิน ห้อยพระ ใบหูทัดดอกดาวเรือง ฝ่ายผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนกระบอกสีชมพู (สีบานเย็น) คอกลมขลิบดำ หรือน้ำเงินเข้ม นุ่งผ้าถุงไหมสีน้ำเงินมีเชิง(ตีนจก) เข็มขัดลายชิดคาดเอว เครื่องประดับสร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยข้อมือเครื่องเงิน ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้สดหรือดอกไม้ประดิษฐ์ และรำชุดสุดท้าย เป็นการรำหมู่ มีประธานและแขกผู้มีเกียรติและนักท่องเที่ยวร่วมกันร่ายรำในชื่อชุดม่วนชื่ออีสาน
ข่าวน่าสนใจ:
- ผบช.ภาค7 แถลงผลการจับกุมเครือข่ายผู้ก่อเหตุลักทรัพย์อุปกรณ์ประจำเสาสัญญาณโทรศัพท์ ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ ตำรวจภูธรภาค 7
- โจรเต็มเมือง!! โจรแสบย่องเงียบเข้าไปในบริเวณบ้าน ขโมยรถ จยย.หนีลอยนวล
- ผู้ค้าธาตุพนมร้องเรียนค่าเช่าแผงงานนมัสการพระธาตุพนมพุ่งสูงกว่าเดิม นายอำเภอเร่งแก้ปัญหาด่วน
- เจ้าอาวาสสุดจะทน โจรใจบาปงัดตู้บริจาควัดดัง ศูนย์เงินหลายหมื่นบาท
พิธีทางศาสนางานบวงสรวงพญานาค เริ่มแต่เวลา 07.00 น. เป็นกิจกรรมวิถีไทย วิถีพุทธ รวมพลคนเกิดวันศุกร์ โดยผู้ร่วมงานสวมชุดสีขาวบริสุทธิ์ รวมตัวกันที่วัดพระธาตุท่าอุเทน(พระธาตุประจำคนเกิดวันศุกร์) อ.ท่าอุเทน นายตระกูล อานัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม นำชมการฟ้อนรำบูชาพระธาตุท่าอุเทน และเยี่ยมชมหมู่บ้านชนเผ่าไทยญ้อบ้านโพน ต.โนนตาล ก่อนที่จะเดินทางไปสมทบกับชาวไทยญ้อ อ.บ้านแพง เพื่อร่วมกันรำบวงสรวงองค์พญาสัตตนาคราช ในเวลา 17.17 น. ซึ่งมีประชาชน นักท่องเที่ยวต่างมาจับจองที่นั่งสองฟากบริเวณสามแยกถนนนิตโยและสุนทรวิจิตรจนแน่นถนัด และก็ไม่ทำให้ผิดหวังเหล่าศิลปินพื้นบ้าน และนางรำต่างแสดงส่งท้ายอย่างอลังการยิ่งใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนจะถึงพิธีรำบวงสรวง นักเสี่ยงโชคจะหาเลขเด็ดจากแผงลอตเตอรี่ที่วางขายเรียงรายในบริเวณลานพนมนาคา ซึ่งแม่ค้าเผยว่าเลขเด็ดที่นักเลงหวยหามากที่สุดคือเลข 77 โดยยึดเอาการจัดงานบวงสรวงวันที่ 7 เดือน 7 จากสถิติที่ผ่านมามีผู้โชคดีจากแผงลอตเตอรี่แห่งนี้หลายราย จนต้องนำหมอลำศิลปะพื้นบ้านมาแก้บน งวดนี้คอหวยจึงเก็งเลข 7 เป็นตัวเต็ง
งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชปี 61 แม่งานหลักเป็นท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดให้เป็นที่รู้จัก และกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ไม่ห่างกันนัก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม(พมจ.) ยังได้จัดงานมหกรรมตลาดนัดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุในจังหวัด โดยตั้งตลาดสินค้าภูมิปัญญาผู้สูงอายุบริเวณลานคนเมือง ริมแม่น้ำโขง หน้าตลาดอินโดจีน ติดกับลานพนมนาคาของพญาศรีสัตตนาคราช เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาผู้สูงวัยในชุมชน พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าสู่โอทอป ส่งเสริมช่องทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต ลดการพึ่งพาบุตรหลาน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการพึ่งพิงของผู้สูงอายุ ตลอดจนเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลัง โดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาวางจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาของผู้สูงวัยทั้งสิ้น
ประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในอดีตนครพนมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์อันรุ่งเรือง ที่ยิ่งใหญ่แห่งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ในเขตนครพนมและสกลนคร ส่วนท่ารำศรีโคตรบูรณ์เล่ากันว่า เมื่อครั้งอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์รุ่งเรือง บ้านเมืองสงบสุข ศิลปะต่างๆ เจริญเป็นอันดี ทั้งด้านดนตรีและนาฏศิลป์ ตามหัวเมืองน้อยใหญ่ล้วนนิยมศิลปะดังกล่าวมาก อยู่มาวันหนึ่งเจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์ จึงดำริให้มีการเล่นแอ่วแคน(รำตามเสียงแคน) ประกอบการฟ้อนรำประกวดประชันกัน ระหว่างคณะแอ่วแคนต่างๆ โดยกำหนดว่าทำนองเพลงและท่าฟ้อนรำ ต้องประดิษฐ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดที่ไม่เคยมีมาก่อน คณะแอ่วแคนต่างๆ ก็ส่งการแสดงเข้าประกวดมากมาย สุดท้ายเจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์ได้ตัดสิน ให้แอ่วแคนชุดนี้ชนะการประชัน และต่อมาเพื่อเป็นการรำลึกถึงอาณาจักร จึงได้ตั้งชื่อชุดการแสดงนี้ว่า ฟ้อนรำศรีโคตรบูรณ์ โดยใช้ผู้หญิงล้วน เป็นการรำประกอบลายแคน จังหวะโยก โยน โอนเอน อ่อนไหว จังหวะเพลง และท่ารำก็อ่อนช้อย งดงาม สมเป็นการแสดงระดับสูงซึ่งแสดงต่อหน้าเจ้าเมืองในอดีต ปัจจุบันจึงเป็นชุดรำประจำจังหวัดนครพนม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: