ขอนแก่น – ชลประทานที่ 6 เดินหน้าโครงการผันน้ำเขื่อนลำปาวที่กาฬสินธุ์สนับสนุนการผลิตประปามหาสารคาม หวังลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์วันละ 50,000 ลบ.ม.
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า เนื่องจากฤดูแล้งปีนี้ มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากวิกฤตภัยแล้งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการ ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชน
ข่าวน่าสนใจ:
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ จำนวน 155 รายการ ซึ่งขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายเข้าไปเตรียมความพร้อมไว้ที่โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัด ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่
สำหรับโครงการ “ผันน้ำลำปาว ช่วยอุบลรัตน์สู้ภัยแล้ง” เป็นอีกหนึ่งมาตรการช่วยเหลือภัยแล้ง เพื่อลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้น้อยกว่าแผนเดิม โดยการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ส่วนที่ระบายออกจากแปลงนาหลังหว่านข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานเขื่อนลำปาว เป็นลักษณะการใช้น้ำรอบสอง ซึ่งจะไม่กระทบกับแผนการระบายน้ำไปช่วยลุ่มน้ำชีตอนล่าง ซึ่งน้ำส่วนที่ระบายออกจากแปลงนาส่วนนี้จะไหลกลับลงลำปาว และลงแม่น้ำชีหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด
จากนั้นจะยกระดับเก็บกักน้ำเขื่อนร้อยเอ็ดให้สูงกว่าระดับเก็บกัก 1 เมตร เพื่อให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนวังยาง มีระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงระดับน้ำเหนือเขื่อนร้อยเอ็ด แล้วสูบน้ำย้อนกลับจากท้ายเขื่อนวังยางไปเก็บไว้ที่หน้าเขื่อน โดยใช้เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 6 เครื่อง อัตราการสูบวันละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร เริ่มทดลองสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 63 และจะสูบไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 63 ซึ่งจะสามารถลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงได้วันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนหน้าเขื่อนวังยางได้ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาระดับน้ำให้กับการประปาสาขาเมืองมหาสารคาม และประปาหมู่บ้าน เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด บางส่วน ในช่วงฤดูแล้งนี้
“การผันน้ำจากเขื่อนลำปาวไปช่วยพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งมีน้ำน้อยมากเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตามแผนที่วางไว้ตลอดฤดูแล้งนี้แน่นอน” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชลประทานที่ 6 เตรียมสูบน้ำท้ายเขื่อนวังยางเข้าพื้นที่มหาสารคาม แก้ภัยแล้ง
- แล้งจัด !! น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ลดระดับต่อเนื่อง ติดลบร้อยละ 5
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: