สระแก้ว – สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เตรียมจัดประชุมเจ้าหน้าที่ห้อง Lab ควบคุมโรคติดเชื้อทุกแห่ง เพื่อรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 จากประเทศจีน หลังมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย
ผศ.(พิเศษ)นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า วันนี้ (27 ม.ค.) เวลา 13.30 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้เตรียมจัดประชุมเจ้าหน้าที่ห้อง Lab เจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาและผู้รับผิดชอบงานควบคุมโรคติดเชื้อใน รพ.ทุกแห่ง ในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยมีโรงพยาบาลรัฐบาล 10 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมอีก 1 แห่ง เกือบ 40 คน เข้าร่วมประชุมที่ห้องดอกปีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 วางแนวทางปฏิบัติ ทบทวนและกำหนดมาตรการรับมือภาวะดังกล่าวสำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลกันกรณีพบผู้ป่วยในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยหลายราย และสถานการณ์ยังคงมีการระบาดเพิ่มเติมในหลายประเทศทั่วโลก
ข่าวน่าสนใจ:
ผศ.(พิเศษ)นพ.สุภโชค กล่าวอีกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสระแก้วได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ร่วมกับกรมควบคุมโรค ตั้งจุดคัดกรองที่บริเวณหน้าด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตม.สระแก้ว เพื่อตรวจนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกประเทศและเป็นไข้ทุกคน รวมทั้งเข้มงวดชาวจีนด้วย โดยมีการติดตามข้อมูลและประชุมเข้มข้นทุกชั่วโมง ซึ่งหากมีการตรวจพบผู้ป่วยก็สามารถดำเนินการส่งต่อและดูแลได้ทันที โดยตั้งให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ป่วยและเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 ในพื้นที่ จ.สระแก้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และการถอดรหัสพันธุกรรมเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก พบว่า มีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่ก่อโรคซาร์สและไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีรหัสพันธุกรรมตรงกัน มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมงกุฎ โดยที่พบในไทยเป็นค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomast) ซึ่งศูนย์ฯดังกล่าวได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการสำรวจไวรัสที่พบในสัตว์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553-2562 ใน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย ชลบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา พังงา สระแก้วและตราด โดยส่งตรวจในห้องแล็ปกว่า 42,000 ตัวอย่าง พบว่า เป็นไวรัสที่รู้จักแล้ว 402 ชนิดและไวรัสใหม่ที่ไม่รู้จัก 458 ชนิด ส่วนใหญ่พบในค้างคาว และเป็นไวรัสตระกูลโคโรน่า แบ่งเป็น5 กลุ่ม ได้แก่ อัลฟา(AlphaCoV) เบต้าโค เอ(BetaCov A) เบต้าโค บี (BetaCov B )เบต้าโคซี(BetaCov C) และเบต้าโค ดี (BetaCov D) โดยกลุ่มที่สนใจเป็นพิเศษ คือ เบต้าโค บี ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สและไวรัสโคโรน่าตัวที่ระบาดที่อู่ฮั่น ประเทศจีนด้วย
สำหรับมาตรการในประเทศไทยที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เป็นระดับ 3 เพื่อติดตามสถานการณ์โรคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการ ทรัพยากร เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสที่มาจาก ต่างประเทศ โดยเน้นการคัดกรองไข้ ณ ช่องทางเข้าออกประเทศที่ท่าอากาศยาน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยาน นานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ตและกระบี่ เพิ่มการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล สนับสนุนการเตรียม ความพร้อมสำหรับรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยครอบคลุมระบบบริการสาธารณสุขทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนแหล่งท่องเที่ยว โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจัดทำรายงานสถานการณ์ฉบับภาษาอังกฤษและใบความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคในฉบับ ภาษาต่างประเทศ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ยกระดับการแจ้งเตือนโรคในผู้เดินทาง เป็นระดับ 3 ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้แจ้งการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน โดยระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ป้องกันได้โดยใช้หลักการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ , สามารถเดินทางไปประเทศจีนได้ แต่ระหว่างเดินทางในต่างประเทศขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ,ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น หากมีไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางไปประเทศจีน , หลีกเลี่ยงการไปตลาดที่ขายซากสัตว์ป่าหรือที่มีชีวิต และการสัมผัสโดยไม่ใช้ถุงมือ ,หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น , ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดิน หายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และรับประทานอาหารปรุงสุกร้อน โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ที่ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.html
——————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: