กราดยิงโคราช แล้วมันจะเกิดขึ้นอีก !!??
สถิติจากงานวิจัยในต่างประเทศ คาดได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์กราดยิงประชาชนอีกประมาณ 13 วันจากนี้ !!??? ทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้น?
ไม่ใช่เพียงเงิน หมื่น-แสน ที่ถูกโกงค่านายหน้า ตามการรายงานข่าวเบื้องต้น คงไม่ทำให้ผู้ก่อเหตุยิงกราดผู้บริสุทธิ์ขนาดนั้น อะไรเป็นเหตุปัจจจัยให้เกิด ฟังจาก PODCAST ได้เลยครับ
ข่าวครึกโครมเป็นที่ทราบกันดี ว่า 8 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุการณ์กราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา มีประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่เสียชีวิตรวม 29 คน (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ) บาดเจ็บ 58 คน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งรวมเหตุการณ์กราดยิง 31 เหตุการณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมาพบว่า 87% ของผู้ก่อเหตุต้องการให้เป็นที่รู้จักของผู้คนผู้กราดยิงได้แบบอย่างประมาณว่าเป็นไอดอลจากการรายงานข่าวมีรายละเอียดประวัติเห็นหน้าตา
จึงมีข้อไม่ควรปฏิบัติในการรายงานข่าว สรุปมาได้พอสังเขป ดังนี้
- ไม่ควรเสนอภาพคนร้าย ชื่อคนร้าย,ผู้ก่อเหตุ
- ไม่ควรเสนอประวัติคนร้ายมากกว่าเหยื่อ
- ไม่ควรรายงานโดยใส่อารมณ์ความรู้สึก
- ไม่ควรรายงานเหตุการณ์ ขั้นตอนโดยละเอียด
- ไม่ควรประโคมข่าวให้ความสำคัญพาดหัวตัวโต
- ลดระยะเวลาการนำเสนอข่าวหลังมีการกราดยิง
- ไม่ควรมีการนำเสนอแบบไลฟ์สดทันที=
- ไม่ควรใช้คำว่า breaking news story กระตุ้นคนดูให้ติดตาม
- หลีกเลี่ยงการขยายรายละเอียดด้วยอินโฟกราฟฟิกฯลฯ
ซึ่งสื่อมวลชนไทยส่วนหนึ่งนำเสนอทั้งหมดที่กล่าวมา! โดยเฉพาะกระแสหลักช่องใหญ่
นพ.ชเนษฎ์ ศรีสุโข ได้โพสต์เฟสบุ้คส์วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้สัมภาษณ์กับคุณสุทธิชัย หยุ่น สรุปได้ดังนี้
คาดว่าผู้ก่อเหตุได้แรงบันดาลใจมาจาก ข่าวมือปืนลพบุรี และภาพยนตร์เรื่อง Joker (2019) เพราะคุณหมอได้อ่าน facebook ผู้ก่อเหตุก่อนถูกปิด แชร์ข่าวมือปืนลพบุรี และ โจ๊กเกอร์ หลายครั้ง รวมถึงเหตุฆาตกรรมหมู่ที่นอร์เวย์
การโพสต์ข้อความ “สุดท้ายก็ตายกันหมด” “มันคิดว่ามันจะไม่ไปนรกหรือไง” เป็นสัญญาณบางอย่างก่อนเกิดเหตุ
การไลฟ์สดหน้าตัวเองแล้วพูดว่าเหนื่อยละพร้อมสะบัดนิ้วจากไกปืนหลังเกิดเหตุเป็นแบบเดียวกับโจ๊กเกอร์เล่นกับมุมกล้องทีวี
ในปี พ.ศ. 2558 จาก Mass Shootings: The Role of the Media in Promoting Generalized Imitation พบว่า การเลียนแบบการกราดยิงจะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉลี่ย 13 วันเกิดขึ้นครั้งนึง ซึ่งเป็นผลจากการรายงานข่าวอย่างละเอียดของสื่อ
จากสิ่งที่พูดมาทั้งหมดได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยวันพระใหญ่มาฆะบูชา
สื่อนำเสนอข้อห้ามทั้งหมดที่มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา วันนี้เปิดทีวีก็ยังเห็น เปิดอินเตอร์เน็ตก็ยังเห็น
แน่นอนว่าคนวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพสื่อ ห้ามกันขนาดนี้จะเสนอข่าวได้ยังไง กรอบคิดติดยึด ก็จะต่างกัน คนทำสื่อก็จะอ้างส่วนใหญ่ประชาชนชอบแบบนี้ก็ต้องทำแบบนี้ เมื่อทำแล้วคนดูเยอะนั่นคือความต้องการของคนส่วนใหญ่ นักวิชาการไม่เคยมาเป็นคนทำสื่อจะรู้ลึกซึ้งได้ยังไง อาจจะคิดแบบนั้นได้
ผมคิดว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของคนทำสื่อ เมื่อทราบผล เป็นบทเรียนล่วงหน้าจากประเทศที่เขาเคยมีปัญหามาแล้ว ไม่น่าจะเดินซ้ำรอย นวัตกรรมการรายงานข่าวต้องเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อแน่ชัดแล้วว่าการรายงานข่าวแบบนี้จะเกิดผลร้ายกับสังคมแบบนี้ ท้าให้คิดกันว่าแล้วจะทำแบบไหนกันดี
แต่ผมก็เชื่อว่า สื่อจะยังไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง จนกว่าคนจะตายมากกว่านี้ หรือญาติพี่น้องเขาต้องประสบเรื่องนี้กับตัวเอง สถิติต่างชาติ 13 วันเกิดครั้ง การกราดยิงในโรงเรียน (ไทยยังไม่เคยเกิด) 32 วันเกิดครั้งประเทศไทยเราเพิ่งเกิดครั้งแรกคงต้องเรียนรู้กันต่อไป
ไอน์สไตน์กล่าวว่า มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำแต่สิ่งเดิม ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง
หากเรายังทำในสิ่งที่สื่อประเทศเคยได้บทเรียนมาแล้ว แต่หวังว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยอ้างว่านั่นมันอเมริกา นิวซีแลนด์ไม่ใช่ไทยแลนด์ ผลลัพธ์ก็ไม่น่าจะต่างกัน
หวังว่าเหตุเกิดในวันพระใหญ่ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างนะครับ
10-02-63
สุชัย เจริญมุขยนันท
ข้อมูล :
Mass Shootings: The Role of the Media in Promoting Generalized Imitation
เราควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์กราดยิง ถอดบทเรียนสหรัฐฯ-นิวซีแลนด์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: