สกว.จัดเสวนาแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ชี้การผลักดันนวัตกรรมในประเทศ และพื้นที่เขต EECi เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศเดินหน้าอย่างยั่งยืน
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมชูปถัมภ์ จัดเสวนาหัวข้อ “บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ไทยกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EECi)” โดยวงเสวนาประกอบด้วย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์,
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.), ดร.พงษ์สุดา ผ่องธัญญา ผอ.ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑืและเทคโนโลยี SCG Packaging และหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ บ.ปตท.จำกัด(มหาชน)
ที่มาของการขับเคลื่อน EECi
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จภายในประเทศ โดยผลงานที่จับต้องได้คือการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเมื่อช่วง 3-4 ปีที่แล้ว สำหรับการพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นสามารถสร้าง GDP ให้ประเทศขึ้นมาร้อยละ 20 เลยทีเดียว หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของ GDP ทั้งประเทศ เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก
หลายคนพูดถึงการผลักดันประเทศไทยให้ไปทัดเทียมกับชาติใหญ่ๆ คือเราต้องพยายามทำให้ประเทศเราพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้เสียก่อน โดยต้องทำให้ประชากรในประเทศมีรายได้ต่อคนอยู่ที่ 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซี่ยนสามารถทำได้แล้ว 2 ชาติคือ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย
คาดว่าประเทศไทยจะเป็นชาติที่ 3 ในอาเซียนที่ทำแบบนั้นได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องนำเอานวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้ โดยต้องพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกที่กำลังไปได้สวยอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าพื้นที่ตรงนั้นจะสามารถสร้าง GDP ให้ประเทศเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก ขณะนี้รัฐบาลมีแผนกำหนดพื้นที่ใช้งานวิจัยโดยมีแผนที่จะใช้ 2 ที่ด้วยกัน
คือที่ศรีราชา จะใช้ในส่วนอุตสาหกรรมภาคอากาศ และที่วังจันทร์ จะใช้ในอุตสาหกรรมไบโอฯ แผนพัฒนาพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกกำลังอยู่ในทิศทางที่ดี เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขในการพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นนำ และยังมีบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาขอลงทุนกับไทยเราในด้านพลังงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างไรบ้าง
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวเสริมว่า หลักการแบบ EECi มีการทำอยู่ทั่วโลกมานานแล้วในประเทศที่มีความเจริญ ไทยเองก็เริ่มต้นทำเมื่อ 15 ปีที่เเล้วในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ แต่ว่าก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แต่ในส่วน EECi จะเน้นการนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำคัญมากในการลงทุนเพราะจะเป็นการพัฒนาทระบบวิทยาศาสตร์เชิงลึกในประเทศไทย นอกจากนี้การวิจัยในพื้นที่ EECi ยังต้องศึกษากฏระเบียบให้มากขึ้นเพราะยังมีอีกหลายๆเรื่อง และตัวกฏหมายอีกเยอะที่ยังไม่เอื้อในการทำ EECi
สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่แพ้กันคือเรื่องของงบประมาณในการวิจัยต้องมีมากพอที่จะสามารถรองรับการวิจัยได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งโครงการ และยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้การวิจัยให้กับบุคลากรต่างๆอย่างจริงจัง เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศต่อไป
สำนักงานสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์อย่างไร
ขณะที่ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง เปิดเผยว่า การส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ไทยถือเป็นพันธกิจที่ สกว. เน้นย้ำและให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะว่า สกว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรอยู่แล้ว ถ้าไปดูแผนยุทธศาสตร์ 5 ข้อหลักของ สกว.จะเห็นว่าข้อ1 และข้อ2 ของแผนยุทธศาสตร์ มีความชัดเจนมากที่สุด
ข้อ1 นั่นก็คือการสร้างองค์ความรู้ซึ่งจะไปล้อกับ ECI ส่วนข้อ2 เป็นการสร้างบุคลากรในงานวิจัย ที่ผ่านมา สกว.พยายามสร้างนักวิจัยที่สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐ, อุตสาหกรรม และชุมชน เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายของ EECi ที่จะสานพลังกับทุกหน่วยงาน
ซึ่งเรื่องของคนเป็นสิ่งสำคัญมากและคอนเทนท์ที่สำคัญคือองค์ความรู้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั่นแหละ เป็นสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันผลักดันศักยภาพต่างๆให้สามารถไปขับเคลื่อนประเทศ และที่สำคัญคือที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่หลายๆคนก็เกิดมาจากการสนับสนุนของ สกว. แทบทั้งนั้นอยู่แล้ว
การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม
ดร.พงษ์สุดา ผ่องธัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอสซีจี ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการทำวิจัยและการพัฒนาด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือเรื่องนวัตกรรมที่จะไปผลักดันสินค้าและบริการให้ทัดเทียมสู่ระดับโลก ซึ่งการทำนวัตกรรมในยุคปัจจุบัน เอสซีจีให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างมากเพราะถ้าคนมีความรู้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพแบบยั่งยืนในระยะยาว
ความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์เป็นอย่างไร
หงษ์ศรี ผ่องธัญญา เปิดเผยว่า ก่อนจะเป็นพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์ ปตท.เห็นความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ของบุคลากร จึงตัดสินใจทำวังจันทร์วัลเลย์เพราะสามารถเป็นพื้นที่พัฒนาต่อยอดด้านนวัตกรรม ดังนั้นแล้วพื้นที่ตรงนี้จึงเหมาะที่จะเป็น EECi ปตท.เพียงแต่เข้าไปร่วมดำเนินกับรัฐบาล ซึ่งดำเนินไปใกล้แล้วเสร็จเต็มทีแล้ว
ยังเหลือในส่วนการทำตัวอาคารต่างๆอีกนิดเดียว โดยส่วนตัวแล้วอยากให้ภาคเอกชนรายอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยสร้างเขตนวัตกรรมวังจันทร์ สำหรับช่วยกันผลักดันประเทศต่อไป ขณะเดียวกันที่วังน้อย ปตท. ยังมีศูนย์วิจัยอีกแห่งที่ใช้สำหรับสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการวิจัยเรื่องต่างๆโดยเฉพาะ
การพัฒนานักวิทยาศาสตร์ส่วนไหนสำคัญที่สุด
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน เล่าให้ฟังว่า ในการพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานเลยคือการจะทำอย่างไรให้มีคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นเยอะๆ ประเทสเราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องผลิตคนประเภทนี้ขึ้นมาอีก ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลโครงสร้างพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยต่างๆต้องให้ความสำคัญเรื่่ององค์ความรู้กับนักศึกษา
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีของประเทศไทยยังช้ากว่าประเทศใหญ่ๆที่มีความเจริญด้านเทคโนโลยี ซึ่งเราต้องกลับมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้ไล่ตามทันประเทศเหล่านั้นให้ทัน สัญญานที่ดีหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นคือห้องทดลองของเราเริ่มมีการพัฒนาไปใกล้เคียงกับประเทศเหล่านั้นมากขึ้น
แต่ว่าเราก็ต้องผลักดันให้มีห้องทดลองแบบนนี่เยอะๆทั่วประเทศเพื่อเป็นการกระจายความเจริญในด้านเทคโนโลยีทุกพื้นที่ อีกส่วนที่สำคัญคือบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ต้องไม่ทิ้งห่างบริษัทขนาดกลางเเละเล็กมากเกินไป เพื่อให้ลดช่องว่างของความห่างที่จะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาแบบควบคู่ไปด้วยกัน
และสิ่งสำคัญอีกหนึ่งสิ่งคือการพัฒนาแนวคิดคนรุ่นใหม่ในประเทศให้สามารถไล่ตามศักยภาพของประเทศใหญ่ๆในยุโรป หรือสหรัฐฯให้ได้ ดังนั้นแล้ว EECi น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในการยกระดับประเทศ และสามารถที่จะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: