X

แนะ ‘พัฒนาวิธีพูด-ให้ข้อมูล’ ที่ ปชช.เข้าใจง่าย เรื่องไวรัสโคโรนา

กรุงเทพฯ – ผลการสำรวจ พบ คนไทยเชื่อข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาและการติดต่อ จากทีวีมากกว่าเฟซบุ๊ก แต่ความเข้าใจและรับรู้ข้อมูลยังอยู่ระดับปานกลาง แนะผู้รับผิดชอบ พัฒนาวิธีการพูดและการให้ข้อมูลที่เข้าถึงและเข้าใจง่าย

ศ.ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกันเปิดเผย ผลการศึกษา เรื่อง ‘ไวรัสโคโรนาที่ประชาชนรับรู้’ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 1,201 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 – 11 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า

ประชาชนสนใจและติดตามข่าวสารเรื่องไวรัสโคโรนา มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 56.6 และสนใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 27.8 โดยมีช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มากที่สุดผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ร้อยละ 66.7 และสื่อโทรทัศน์ร้อยละ 66.6

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.2 เชื่อมั่นข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ มีเพียงร้อยละ 14 ที่เชื่อมั่นสื่อเฟซบุ๊ก

ส่วนความเข้าใจและการรับรู้ข้อมูลของประชาชน เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาและการติดต่อ พบว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้องในระดับปานกลาง โดยร้อยละ 71.5 เชื่อว่าเชื้อไวรัสโคโรนา ล่องลอยทั่วไปในอากาศ แหล่งชุมชน คนหนาแน่น ร้อยละ 79.6 ยังคิดว่าตนเองไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ และประชาชนส่วนใหญ่ ค่อนข้างทราบวิธีป้องกันจากไวรัสเมื่อต้องออกนอกบ้าน ได้แก่ ร้อยละ 83.4 ระบุว่าใช้หน้ากากอนามัย ร้อยละ 60.4 ล้างมือบ่อยๆ และร้อยละ 56.9 ใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อที่ฝ่ามือ

สำหรับการรับรู้ต่อการติดต่อของเชื้อไวรัสโคโรนาในสถานการณ์ต่าง ๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 86.0 คิดว่าเดินห้างสรรพสินค้าติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 83.5 คิดว่าการนั่งเครื่องบินลำเดียวกันติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 83.0 คิดว่าการไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 82.1 คิดว่าการขึ้นรถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า ติดเชื้อไวรัสได้ ขณะที่ร้อยละ 81.3 คิดว่าการนั่งทานอาหารร่วมโต๊ะวงเดียวกัน ติดเชื้อไวรัสได้ และร้อยละ 47.5 คิดว่าการฟังเพลงร่วมกัน ติดเชื้อไวรัสได้

ที่น่าพิจารณา คือ ความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ร้อยละ 61.5 ต้องการให้แจกหน้ากากอนามัย ร้อยละ 51.2 ต้องการให้มีศูนย์ปฏิบัติการที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การป้องกัน โรค และประชาสัมพันธ์ ให้ทราบข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นจริง และร้อยละ 45 ต้องการให้แจกเจลล้างมือ

คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนะว่า ผู้รับผิดชอบทุกภาคส่วนต้องพัฒนาวิธีการพูด การให้ข้อมูลง่าย ๆ ให้ประชาชนเข้าใจ ในเรื่อง

1.การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ปชช.ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) คิดว่าเชื้อไวรัสจะล่องลอยอยู่ในอากาศ
2.โอกาสติดเชื้อ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) ยังไม่คิดว่าตนเองจะติดเชื้อไวรัสได้
3.การดูแลตนเองและคนใกล้ชิด ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เน้นใส่หน้ากากอนามัย แต่มีจำนวน น้อยที่ล้างมือบ่อย ๆ และระวังตัวเรื่องการใช้มือลูบหน้า แคะจมูก ปาก ตา
4.การดูแลคนใกล้ชิด ประมาณร้อยละ 80 ตอบว่า พาไปโรงพยาบาล
5.การดูแลคนในที่ทำงาน ประมาณร้อยละ 60 ให้พักงาน ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารให้ ชัดเจนกว่านี้ เช่น ที่ทำงานอาจมีการคัดกรอง หรือวัดไข้ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคในที่ทำงาน และที่โรงพยาบาล ควรมีการแจ้งจุดและขั้นตอนในการตรวจรักษาที่เห็นได้ชัด สะดวกต่อการไปใช้บริการ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"