เพชรบูรณ์-“วิศัลย์”จี้กรมป่าไม้เร่งแจงกรณีอนุญาตให้เอกชนสำรวจแร่ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบสภาท้องถิ่น ชี้ชาวบ้านเคลือบแคลงทั้งที่กฎหมายกำหนดชัด
วันที่ 10 สิงหาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนเฟสบุ๊กที่ใช้ชื่อ“คนเพชรบูรณ์ไม่เอาเหมืองแร่” มีการความคืบหน้าการเคลื่อนไหวต่อต้านการสำรวจแร่ของบริษัทเอกชน ซึ่งก่อนหน้านี้ตัวแทนกลุ่มฯได้ยื่นหนังสือร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีกรมป่าไม้ โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 พิษณุโลก อนุญาตให้บริษัทเอกชนที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเข้าสำรวจแร่ในเขตป่าฯในพื้นที่ 2 ตำบลของอ.หนองไผ่ โดยไม่ผ่านมติสภาองค์กรส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ “นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์” แกนนำกลุ่มคนเพชรบูรณ์มาเอาเหมืองแร่ ได้โพสต์ข้อความพร้อมสำเนาเอกสารเกี่ยวกับระเบียบกรมป่าไม้ ออกตามความในมาตรา 17 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้การเข้าสำรวจแร่แม้จะเป็นการศึกษาวิจัยทางวิชาการก็ตาม ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องแนบเรื่องเพื่อขออนุญาต
ทั้งนี้นายวิศัลย์โพสต์เฟสบุ๊กโดยการจั่วหัวข้อเรื่องว่า ข้อสังเกตจาก “กลุ่มคนเพชรบูรณ์ไม่เอาเหมืองแร่” ตามที่ปรากฏว่าในขณะนี้มีการอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้บริษัทเหมืองแร่ดังกล่าว สามารถเข้าสำรวจแหล่งแร่ในเขตป่าสงวนของพื้นที่ตำบลหนองไผ่และตำบลยางงาม โดยมีการส่งค่าธรรมเนียมการปลูกป่าที่เรียกเก็บมาจากบริษัทเหมืองแร่ ส่งมาให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ โดยใช้คำว่าได้อนุญาต“เข้าไปศึกษาวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฯ เพื่อทำการสำรวจทรัพยากรแหล่งแร่เหล็ก ทองแดง ตะกั่วและสังกะสี ตามอาชญาบัตรเลขที่ …..” นั้น
นายวิศัลย์ยังระบุอีกว่า แต่ตามระเบียบของกรมป่าไม้ ออกตามความในมาตรา 17 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมระบุว่า การขออนุญาตเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในทุกสาขาวิชา จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆก่อน ประกอบกับคำขออนุญาตให้เข้าศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กรณีการสำรวจแร่และปิโตรเลียม ในข้อที่ 7 ผู้ยื่นคำขอจะต้องแนบหลักฐานที่แสดงผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งนั้นตั้งอยู่ด้วย
นายวิศัลย์ระบุทิ้งท้ายด้วยว่้า แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไผ่และสภาองค์การบริหารส่วนตำบลยางงาม ไม่เคยมีการประชุมลงมติเห็นชอบให้บริษัทเหมืองแร่ใดๆ เข้ามาทำการศึกษาวิจัยหรือสำรวจแร่ในเขตของตำบลนั้นๆ แต่อย่างใดเลยเรื่องนี้ ทางกลุ่มฯเห็นว่าสมควรเป็นอย่างยิ่งที่ กรมป่าไม้จะต้องออกมาให้ความกระจ่างว่า กฎหมายหรือระเบียบที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ได้มีใช้เอกสารยื่นเรื่องและอนุญาตถูกต้องหรือไม่? ประเด็นข้อข้องใจไม่ได้ซับซ้อนใดๆเลย สมาชิกกลุ่มฯซึ่งเป็นชาวบ้านยังอ่านเข้าใจ ฉะนั้นกรมป่าไม้ควรจะเร่งทำความชี้แจงออกมาและการล่าช้า จะนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: