ขอนแก่น – ม.ขอนแก่น ร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้งโรงเรือน ขนาด 2 ไร่ เพาะปลูกคัดเลือกพันธุ์กัญชา-กัญชง พร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
ช่งบ่ายวันนี้ (20 ก.พ.63) ที่หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะผู้บริหาร คณบดี และ ผู้แทนบริษัท อะลาดิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมเป็นเกียรติในพิธีรับมอบอาคารสำนักงานและระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์
ทั้งนี้คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและการใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งถือว่า นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการวิจัยต้นน้ำเพื่อส่งมอบผลผลิตให้กับนักวิจัยที่เกี่ยวข้องในส่วนอื่นทำการวิจัยในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำต่อไป รวมทั้งต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้านอื่นๆ และที่สำคัญได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงเรือนเพาะปลูกพืชมูลค่าสูงหลังนี้ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของคณะเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าวน่าสนใจ:
โรงเรือนกรีนเฮาส์หลังนี้มีเนื้อที่รวม 2 ไร่ เกิดขึ้นโดยความร่วมมือ 3 ฝ่ายได้แก่ 1.ตัวโรงเรือนได้รับการสนับสนุนจากบริษัทมาลีสามพราน เพื่อใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการวิจัยและการเรียนการสอนเพื่อผลิตพืชระดับอุตสาหกรรม 2. คณะเกษตรศาสตร์สนับสนุนด้านระบบการควบคุมและจัดการให้น้ำและปุ๋ยแบบไฮโดรโพนิกส์ และ 3. โดยความร่วมมือกับบริษัท อะลาดิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงให้การสนับสนุนด้านการจัดทำรั้วและระบบรักษาความปลอดภัย มูลค่า 5,136,000 บาท
ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พัฒนากระบวนการผลิตและการควบคุมการผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเป็นกลไกสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยการวิจัยจะเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันจากหลายคณะ ประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และ คณะสัตวแพทยศาสตร์
ภายในบริเวณจะมีอาคารสำนักงาน ประกอบด้วย ห้องที่แบ่งเป็น 5 ห้อง เป็นห้องที่ใช้ในการสกัดสาร ห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และดอกที่เก็บเกี่ยว ห้องทำลาย และห้องรักษาความปลอดภัย ส่วนของโรงเรือนพลาสติกกรีนเฮาส์ขนาดใหญ่ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกกัญชา อีกส่วนคือส่วนของการรักษาความปลอดภัย โดยจะมีรั้วสองชั้น รั้วชั้นนอกมีความสูงประมาณ 3 เมตร เป็นรั้วไฟฟ้าเพื่อรักษาความปลอดภัย ส่วนรั้วชั้นในมีความสูงประมาณ 2 เมตร เพื่อป้องกันการบุกรุก นอกจากนั้นก็มีระบบชลประทานซึ่งจะมีสองส่วนก็คือ ระบบน้ำบาดาล และน้ำประปา
โอกาสนี้ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการได้ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว 77ข่าวเด็ดว่า “ในช่วงนี้การก่อสร้างโรงเรือนก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางเอกสารเพื่อขอปลูกกัญชา คาดว่าภายในระยะเวลา 2-3 เดือนนี้จะเริ่มการปลูกกัญชาได้ โดยการปลูกที่นี่จะมีทั้งการสกัดสารเพื่อไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และปลูกเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ทั้งการใช้น้ำหล่อเลี้ยงไฮโดรโปนิกส์ ระบบปลูกบนดินแบบออร์แกนิกส์ ระบบปลูกแบบไม่ใช้ดินแต่เป็นวัสดุอื่น เพื่อดูว่าสายพันธุ์ต่างๆ มีความเหมาะสมต่อระบบการปลูกแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนที่ให้สารออกฤทธิ์ได้ดีกว่า
ขณะเดียวกันเราก็จะทดลองสายพันธุ์กัญชงด้วยเพราะขณะนี้กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการทดลองปลูกกัญชงค่อนข้างมาก กัญชงก็จะมีสาร CBD ซึ่งใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง ทั้งด้านอาหาร ด้านสุขภาพ ด้านการรักษาด้วย โดยมีสารเมา THC ต่ำ ส่วนกัญชาก็คือยังเป็นพืชเสพติด แล้วก็จะมีสารเมาหรือ THC สูง วันนี้กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ สำหรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยจากการรักษาด้วยคีโม เพราะการรักษาด้วยยาที่มาจากกัญชาจะได้ผลดีกว่าการใช้มอร์ฟีน แต่ ณ ตอนนี้ในประเทศเราคงยังไม่ได้เปิดเสรี
สำหรับกัญชงไม่มีสารเมา มีแต่สารที่ออกฤทธิ์ก็คือ CBD ซึ่งต่างประเทศใช้ตัวนี้เยอะอยู่แล้ว ทั้งการผสมในเครื่องดื่ม ผสมในเครื่องสำอาง ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ อาหารทั่วไป การรับประทานเข้าไปก็ไม่ต้องกลัวเรื่องของการเสพติดเหมือนกับกัญชา ก็ถือว่ากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ สามารถเริ่มปลูกในเชิงเกษตรได้ก่อนกัญชา”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาร THC และ CBD ในกัญชา แตกต่างกันอย่างไร สรุปให้เข้าใจในบทความเดียว..!!
- ม.ขอนแก่น หนุนงานวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์
- รพ.ขอนแก่น นำร่องแจกน้ำมันกัญชาผู้ป่วย 4 ราย
- “อนุทิน” สั่งเดินหน้าน้ำมันกัญชา 1 ล้านขวด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: