นนทุบรี – คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ ประกาศให้ โรคติดเชื้อ ‘โควิด-19’ เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ลำดับที่ 14 ของไทย เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ยังไม่เข้าสู่การระบาดระยะที่ 3
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประชุมวาระการพิจารณา ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ลำดับที่ 14 และจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ต่อไป
นายอนุทิน เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ ให้ประกาศโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย จะเกิดประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการประกาศนี้ไม่ได้แปลว่า ประเทศเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่เป็นการประกาศเพื่อให้การทำงานเพื่อชะลอ หรือยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ไว้ให้ได้นานที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ใช้นโยบายการรับมือสถานการณ์นี้ ในเชิงบวก 1 คือหากสถานการณ์อยู่ในระยะที่ 2 จะใช้มาตรการป้องกันระดับ 3 เพื่อให้มั่นใจว่า อยู่หน้าสถานการณ์ไม่ใช่วิ่งไล่ตาม ดังนั้น การประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ไม่ใช่ว่าเราเอาไม่อยู่ แต่เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรคนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะยังกังวลว่าจะติดข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ เช่น กรณีจำเป็นต้องกักตัว 14 วัน ถ้าไม่มีประกาศโรคติดต่ออันตราย จะทำได้แค่ขอความร่วมมือ และถ้ามีคนเป็น Super Spreader แบบที่เกาหลี จาก 1 ก็จะติดเป็นร้อยคน ก็จะปฏิเสธหาว่าถูกจำกัดอิสระ จึงต้องให้เจ้าหน้าที่มั่นใจ
นายอนุทิน ยังตัดพ้อถึงข้อกล่าวหาและแรงกดดันจากโซเชียล มีเดีย ซึ่งบั่นทอนกำลังใจของคนทำงานมากว่า วันนี้ ไม่ได้สู้กับไวรัสโคโรนาอย่างเดียว แต่ยังเหนื่อยกับข้อความที่แชร์กันมา จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ให้ร้ายก็มี แม้แต่สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศ ที่คงที่มาสักระยะ ก็มีคนมาบอกว่าโกหก ประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทยยังมีมากกว่านี้ คำพูดเหล่านี้บั่นทอน สิ่งที่ทำมาถึงทุกวันนี้ ได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ นักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ มาช่วยกัน แต่ยังไม่สามารถรองรับความกดดันของโซเชียล มีเดีย ได้
สำหรับโรคติดต่ออันตราย 13 โรค ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6. โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก
ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อฯ กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย ให้สามารถสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ชั่วคราว สั่งให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรค หยุดการประกอบอาชีพชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรค เข้าไปในสถานที่บางแห่ง เป็นต้น
ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: