ปราจีนบุรี – ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อม มูลนิธิอุทกพัฒน์ เยี่ยมชมชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จนสามารถนำพาชุมชนให้รอดพ้นวิกฤต เกิดความมั่นคงทั้งด้านน้ำ ด้านผลผลิต ด้านสังคมและเศรษฐกิจชุมชน และยังเป็นต้นแบบขยายผลไปยังงานปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 17 ส.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน สนับสนุนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน เข้าร่วมงาน“แลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริสู่ความยั่งยืน”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม ตัวอย่างความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนที่น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาการจัดการน้ำชุมชน และแก้ไขปัญหาแหล่งกักเก็บและสำรองน้ำในพื้นที่ ด้วยสระน้ำประจำไร่นา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขื่อนใต้ดิน”
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าฉาง พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- พบช้างป่าอยู่ใกล้ที่ทำร้ายคนเสียชีวิตเร่งผลักดันหวั่นเกิดเหตุซ้ำ จ.ปราจีนบุรี
- นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร…
- สองแม่ลูกปีนหน้าต่างชั้น 2 หนีตายไฟไหม้บ้านกลางดึก คาดไฟฟ้าลัดวงจร
นอกจากนั้น ยังมีน้ำใช้ในยามฝนทิ้งช่วง สามารถบริหารจัดการปิดเปิดประตูน้ำและเชื่อมต่อคลอง เพื่อกระจายน้ำให้เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ 25,000 ไร่ ช่วยลดภาวะเสี่ยงจากภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำหลาก มีการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงปลาในสระ ปลูกพืชผักผลไม้หลายชนิด เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เกิดความมั่นคงทางอาหาร โดยจุดศึกษาดูงานในพื้นที่ทั้ง 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 สระเก็บน้ำเขาชีปิด ชุมชนได้ร่วมกันฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำเขาชีปิด ทำแก้มลิง และเชื่อมเส้นทางน้ำในพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร สามารถสำรองน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนทิ้งช่วง เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเป็น 337,410 ลูกบาศก์เมตร และกระจายน้ำไปยังชุมชนรวม 10 หมู่บ้าน กว่า 300 ครัวเรือน
ส่วนจุดที่ 2 แปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ชุมชนได้น้อมนำแนวทางการปลูกพืชผสมผสานระหว่าง พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ ได้แก่ ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ต้นโมก ต้นพุด ต้นจำปี ต้นหูกระจง ไผ่ดำ และพืชที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ได้แก่ พืชผักสวนครัว และผลไม้ ทำให้ชุมชนมีรายได้ สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ยลงได้ครัวเรือนละ 2,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันยังได้ขยายแนวคิดความมั่นคงด้านอาหารด้วยการพึ่งพาตนเองได้ 2,494 ครัวเรือน ทั้งตำบลดงขี้เหล็ก
สำหรับจุดที่ 3 สถาบันการเงินชุมชนกลุ่มออมทรัพย์ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงของชุมชน ด้วยการร่วมกันฝากเงินสัจจะออมทรัพย์ประจำทุกเดือน และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าเป็นสมาชิกสมทบด้วย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนและทางเลือกในการออมเงินของชุมชน มีระบบบริหารการหมุนเวียนเงินในชุมชน มีสวัสดิการให้ชุมชนที่เป็นสมาชิก และคืนกำไรให้ชุมชนในรูปของกองทุนสวัสดิการ เกื้อหนุนคุณภาพชีวิต รวมถึงการศึกษาและการส่งเสริมอาชีพ ปัจจุบัน มีกองทุนของสถาบันการเงินชุมชนรวม 12 กองทุน มีสมาชิกกว่า 1 หมื่นคน ใน 14 หมู่บ้านของตำบลดงขี้เหล็ก สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และบริหารเงินให้อยู่ในชุมชนได้ ชาวบ้านความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จนสามารถนำพาชุมชนให้รอดพ้นวิกฤต เกิดความมั่นคงทั้งด้านน้ำ ด้านผลผลิต ด้านสังคมและเศรษฐกิจชุมชน และยังเป็นต้นแบบขยายผลไปยังงานปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนสืบไป
—————————–
ข่าว-ภาพโดย/สายชล หนูแดง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: