ขอนแก่น – ขอนแก่นมอบสายรัดข้อมืออัจฉริยะติดตามสุขภาพผู้สูงอายุ 500 ราย ทั้งความดัน น้ำตาล การออกกำลังกาย และอาหารรสเค็ม เพื่อให้สูงวัยแบบสมาร์ท
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ การใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าระวังและป้องกันภาวะสุขภาพ และพิธีมอบสายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพ โดยความร่วมมือของจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคอิสานตอนกลาง โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้รวมตัวเป็น “เครือข่ายขอนแก่นสมาร์ทลิฟวิ่งแล็ป” และได้มีการสำรวจปัญหาสุขภาพและความต้องการเทคโนโลยีฉลาดของผู้สูงอายุในพื้นที่ พบว่า ประชากรผู้สูงวัยส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน เสี่ยงต่อการล้มสูง มีภาวะซึมเศร้า และสมองเสื่อมในอัตราที่สูง
ส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านลำพังในตอนกลางวันเนื่องจากลูกหลานต้องไปทำงานนอกบ้าน ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ บางครั้งไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที และบางคนไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ จึงเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้สูงวัยเองและบุตรหลานผู้ดูแล จึงเป็นที่มาของการหารูปแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้สูงอายุในพื้นที่ และสร้างระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่าย
ข่าวน่าสนใจ:
- ปราจีนบุรี หนุ่มพาแม่ไปหาหมอ ขับรถชนช้างป่าอ่างฤาไน เจ็บ 3 ราย
- นนทบุรี รวบ 2 วัยรุ่นสวมบทเด็กช่างใช้ปืนตระเวนชิงทรัพย์ วันเดียวก่อเหตุ 5 ครั้ง
- ทหารจับชาวจีนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 4 ราย ชายแดน จ.สระแก้ว
- รถจักรยานยนต์ตกหลุมกลางถนนยางหน้าระเบิดจนพลิกคว่ำบาดเจ็บ 2 ราย กู้ภัย เผย จุดดังกล่าวมีมอไซค์ล้มหลายครั้งแล้ว
การใช้เทคโนโลยีฉลาด เช่น สายรัดข้อมืออัจฉริยะหรือ Smart Wristband เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างต้นแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพจากเซ็นเซอร์ติดตามสุขภาพและพฤติกรรมการสวมใส่ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถรับทราบข้อมูลสุขภาพของตนเองที่เป็นจริงในขณะนั้น เช่น การออกกำลังกายประจำวัน การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ ค่าความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม และยังมีระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อกับศูนย์สั่งการอัจฉริยะอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือ IOC ของโรงพยาบาลขอนแก่นน ที่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้สวมใส่ และมีระบบการติดต่อสื่อสารที่ง่าย สะดวกในการใช้งาน ทำให้สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้การที่เทศบาลนครขอนแก่นได้รับการสนับสนุนสายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพ รุ่นมะลิ 2 จากเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเดือนกันยายน 62 จำนวน 140 เส้น และในวันนี้จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล สาขาภาคอีสานตอนกลางอีก 350 เส้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการจำนวนมากถึงเกือบ 500 คน
ทำให้ได้ข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่พอสมควร ที่สามารถวิเคราะห์ทำนายภาวะสุขภาพผ่านศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligence Operation Center) ได้ ซึ่งจะช่วยให้จังหวัดขอนแก่น สถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล รวมไปถึงผู้วางแผนด้านงบประมาณสุขภาพได้ตรงตามข้อเท็จจริง เกิดนวัตกรรมดิจิตัลสุขภาพใหม่ๆ สามารถทำนายสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ในการวางแผนจัดการสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป
สำหรับผู้เข้ารับมอบสายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพในวันนี้ เป็นแกนนำสุขภาพและผู้สูงอายุ จำนวน 350 คน ที่ผ่านการคัดกรองจากศูนย์แพทย์/ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 8 แห่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น (มิตรภาพ,โนนชัย,ประชาสโมสร,หนองใหญ่,ชาตะผดุง,หนองแวง,สามเหลี่ยม,เทศบาล)
และนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า เป็นผู้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ และจำเป็นต้องเฝ้าระวังติดตามภาวะสุขภาพ โดยจะมีผู้ดูแลผู้สูงอายุ (CG) และผู้จัดการระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (CM) ช่วยติดตามภาวะสุขภาพ รวมถึงแนะนำการใช้สายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และรวบรวม/วิเคราะห์/สรุปผลโครงการโดยทีมวิจัยจากเครือข่ายขอนแก่นสมาร์ทลิฟวิ่งแล็ปต่อไป
ด้าน ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในปัจจุบัน จ.ขอนแก่นกำลังมีแผนการลงทุนพัฒนาเมืองครั้งใหญ่เพื่อก้าวไปสู่สมาร์ทซิตี้ ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ โครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และระบบขนส่งรถไฟฟ้ามวลเบาในตัวเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ประกอบกับจังหวัดขอนแก่นได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
หนึ่งในความต้องการด้านสมาร์ทซิตี้คือ ขอนแก่นสมาร์ทลิฟวิ่งแล็ป ที่ได้รับรางวัลสุดยอดเมืองสมาร์ทซิตี้เอเซียแปซิฟิก ปี 2562 ด้านสาธารณสุขและบริการสังคม ซึ่งประกอบด้วย 1.ระบบการเฝ้าระวังป้องกันภาวะสุขภาพ (Health Prevention) การใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์ฉลาดที่มีเซ็นเซอร์สามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพและประมวลผลอัตโนมัติ ได้แก่ สายรัดข้อมืออัจฉริยะ เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องตรวจน้ำตาล ตรวจออกซิเจนในเลือด ตรวจความเค็มของอาหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานในชีวิตประจำวันได้
2.ระบบศูนย์สั่งการอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นการพัฒนาระบบการสื่อสารระหว่างรถพยาบาลและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลขอนแก่นผ่านระบบสัญญาณไร้สาย เพื่อปิดช่องว่างการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตระหว่างส่งต่อจากโรงพยาบาลต้นทางไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ให้เกิดความปลอดภัยด้านสุขภาพแก่ประชาชน โดยจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สายผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่โรงพยาบาลชุมชน รวมถึงติดตั้งระบบสื่อสารแบบ Video Call และ Medial GPS tracking ในรถพยาบาล
3.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพทรวมของจังหวัดขอนแก่น (Big data) และถนนข้อมูลสุขภาพ(X-road) ที่จะช่วยให้ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง นำข้อมูลมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองได้ สะดวกต่อแพทย์และทีมงานด้านสุขภาพ เพราะเป็นระบบฐานข้อมูลเดียวกัน เห็นความเปลี่ยนแปลงสุขภาพ สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาพยาบาลได้รวดเร็ว ถูกต้อง ไม่ซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณจากการทำซ้ำในเรื่องเดียวกัน และช่วยให้การรักษาพยาบาลการดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ 0 / 5. จำนวนโหวต: 0