ราชบุรี ในวันนี้( 4 มี.ค. 63 ) ดร.สมพงษ์ พนมชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้ร่วมกับคณะอาจารย์และ นักศึกษาผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อใช้สำหรับสวมป้องกันเชื้อไวรัส โควิด 19 ซึ่งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ที่นี่เคยผลิตหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันฝุ่น PM 2.5 มาแล้ว ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มแผ่นกรองของหน้ากากอนามัยเพื่อให้สามารถป้องกันเชื้อโควิด19 ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยดร.สมพงษ์ พนมชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี กล่าวว่า มีการผลิตหน้ากากป้องกันไวรัสโควิด 19 ต่อวันจะผลิตได้ประมาณ 300 ชิ้น หน้ากากที่ผลิตได้นั้นจะแจกบุคลากรของวิทยาลัยเทคนิคจำนวน 300 คน และนักเรียน นักศึกษาจำนวน 6,000 คน ตั้งใจจะผลิตรอบแรกประมาณ 1 หมื่นชิ้น ส่วนที่เหลือจากนี้จะแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเชื้อไวรัสโควิด 19 เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งทางมูลนิธิลูกเสือขอรับไปบริจาคให้แก่ประเทศจีน โดยที่มูลนิธิลูกเสือเป็นผู้จ่ายค่าวัสดุ ส่วนทางวิทยาลัยเทคนิคจะเป็นผู้ผลิต
ส่วนหน้ากากที่ทำนี้มาจากการพัฒนาต่อจากหน้ากากที่ใช้ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนได้มีการผลิตหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กมาแล้วและยังได้ผ่านการรับรองมาตรฐานด้วย ต่อมาได้พัฒนาต่อเนื่องเมื่อเกิดวิกฤตไวรัสโคโรน่า โควิด 19 ได้นำหน้ากากที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็น 3 ชั้น เอามาต่อยอดด้วยการเพิ่มผ้านิดเดิ้ลพั้นเข้าไปอีก 2 ชั้น รวมเป็น 5 ชั้น มีการทดสอบจากเครื่องที่เราได้มีการพัฒนาขึ้นเองเรียกว่า จมูกเทียม พบว่าสามารถช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง โดยหน้ากากที่ผลิตขึ้นนั้นสามารถซักได้ และยังใช้ได้อีกหลายครั้งด้วย ส่วนขั้นตอนการผลิตจะใช้ครูอาจารย์และนักศึกษาของวิทยาลัยจำนวน 40 คน มีการจัดหาวัสดุที่เป็นผ้าคอตตอน สำหรับหุ้มตัวหน้ากาก มีผ้าสปันบอลที่เป็นผ้าสำหรับกรองซึ่งเมื่อผลิตออกมาจะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ หลังจากนั้นจึงใส่ผ้านิทเดิ้ลพั้นซึ่งเป็นผ้ากรองละเอียดเข้าไปอีกจะรวมทั้งหมดได้ 5 ชั้น ยอดผลิตตอนนี้จะได้วันละประมาณ 300 ชิ้น
ขณะที่ช่วงนี้หน้ากากอนามัยขาดตลาดและมีความต้องการมาก อีกทั้งทางวิทยาลัยฯมีข้อจำกัดเรื่องการผลิต ขณะนี้จึงได้เปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจและต้องการที่จะทำหน้ากากอนามัยใช้เอง หรือว่า กลุ่มชาวบ้านที่ต้องการจะมาช่วยในการผลิตหน้ากากพร้อมจะให้ความรู้ โดยทางวิทยาลัยฯจะได้จัดเตรียมวัสดุไว้สำหรับทำหน้ากากไว้ให้ หรือจะมีผู้มีจิตศรัทธาอยากจะบริจาคผ้าเข้ามาที่วิทยาลัยฯ ก็ยินดี จะมีคณะอาจารย์คอยดูแลเรื่องผ้าที่ใช้ผลิตหน้ากาก จะคอยดูแลเรื่องความเหมาะสมของเนื้อผ้าในการผลิตด้วย เนื่องจากต้องคอยดูแลเรื่องคุณภาพการทำหน้ากากอนามัย เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีการซักอบรีด ใส่ซองก่อนส่งมอบ มีต้นทุนการผลิต เฉพาะค่าวัสดุของหน้ากากประมาณชิ้นละ 20 บาท ยังไม่รวมค่าเย็บ และเมื่อวัสดุหายาก หรือมีการขึ้นราคา ก็อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
อย่างไรก็ตามขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษาและประชาชนทั่วไปทั้งในพื้นที่ราชบุรี และต่างจังหวัด ทราบข่าวได้สนใจเดินทางมาศึกษาดูงาน บางรายโทรศัพท์ติดต่อขอสั่งซื้อหน้ากากอนามัยกันเป็นจำนวนมาก ทางผอ.วิทยาลัยได้ชี้แจงการผลิตถึงจำนวนนักศึกษาที่มีจำกัด อีกทั้งผ้าที่ใช้บางชนิดเริ่มมีจำนวนไม่เพียงพอแล้ว ซึ่งหากสั่งผ้าที่ใช้กรองฝุ่นซึ่งเป็นผ้านิทเดิ้ลพั้นใช้ผลิตหน้ากากอนามัยก็จะใช้เวลาในการสั่งค่อนข้างนาน ประมาณ 2 เดือน และยังมีแนวคิดที่จะไปจ้างกลุ่มแม่บ้านหรือผู้สนใจในการตัดเย็บหน้ากากอนามัยช่วยเหลือทางนักศึกษาของวิทยาลัยฯอีกทาง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องของประชาชนด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: