X

“หญิงหน่อย” ลุยนครพนม เยี่ยมชมธนาคารน้ำใต้ดิน ซัดรัฐบาลแจกเงินเจ้าสัวผ่านมือคนจน

นครพนม – “หญิงหน่อย” ลุยนครพนม เยี่ยมชมธนาคารน้ำใต้ดิน ซัดรัฐบาลแจกเงินเจ้าสัวผ่านมือคนจน

วันที่ 7 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม เขต 3 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย และ นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เดินทางไปยังหอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง(อบต.บ้านผึ้ง) อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมี ด.ต.พิทักษ์ ต่อยอด นายก อบต.บ้านผึ้ง เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว

ด.ต.พิทักษ์ฯกล่าวว่า จากพระราชดำรัสเรื่องน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีหลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ และในทุกๆ ปีประชาชนในพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงการเกษตร อีกทั้งน้ำบาดาลก็เป็นสนิมและเค็ม เป็นน้ำกร่อย  จึงได้นำเอาปัญหาดังกล่าวมาหาทางแก้ไข และก็ได้ไปพบศาสตร์ของเจ้าคุณสมาน สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดอาฮงศิลาวาส ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ จึงได้มีการศึกษาและนำเอาองค์ความรู้นี้มาใช้ในตำบลบ้านผึ้ง ซึ่งหลักการในการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ก็คือการเติมน้ำลงไปในดินเพราะทุกวันนี้เรามีแต่ถอนอย่างเดียวไม่มีการฝากจึงทำให้น้ำมีไม่พอใช้

ซึ่งจากการศึกษาพบว่าน้ำในพื้นที่จะถูกแรงเหวี่ยงของโลกพาเอาน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงเร็วมาก ทำให้น้ำบนดินในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนแทบจะไม่มีน้ำใช้ แต่น้ำใต้ดินมีความสำคัญและใช้ไม่หมดถ้ามีการเติมน้ำลงไป ดังนั้น อบต.บ้านผึ้ง จึงได้มีการขุดบ่อ เพื่อดักน้ำไม่ให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงเร็วเหมือนเดิม และเป็นการเติมน้ำลงพื้นดินในพื้นที่อีก โดยเบื้องต้นได้มีการนำร่องทำธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 15 บ่อครอบคลุมพื้นที่ 23 หมู่บ้านในตำบลบ้านผึ้ง ขนาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ กว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร ส่วนความลึกจะอยู่ที่ 7 เมตร เพื่อให้ทะลุผ่านชั้นดินเหนียวไปที่ชั้นหินอุ้มน้ำซึ่งเป็นเหมือนสำลี ขณะที่ชั้นต่อไปของดินจะมีลักษณะเป็นโพรงทำให้เราสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้จำนวนมาก เป็นเหมือนการฝากน้ำกับธนาคารใต้ดิน ส่วนน้ำที่ได้ก็สังเกตง่ายๆจากการผุดขึ้นมาของน้ำจะเป็นสีเขียวมรกต เป็นน้ำสะอาดดื่มได้ โดยบ่อที่ขุดนั้นจะอยู่ใกล้กับคลองระบายน้ำตามหมู่บ้านทำให้เมื่อถึงเวลาทุกคนสามารถนำน้ำจากธนาคารแห่งนี้ไปใช้ได้ทันที

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์  ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย หลังเยี่ยมชมโครงการธนาคารน้ำใต้ดินแล้ว ได้ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีรัฐบาลอัดแคมเปญแจกเงินแสนล้าน ว่า รัฐบาลกำลังเจอปัญหาวิกฤตภัยแล้งและไข้หวัดโควิด-19 การแจกเงินอย่างที่รัฐบาลพยายามจะทำ  ใช้เงินแสนล้านแจกรายครัวเรือน  ไม่ทราบว่าจะมีวิธีแจกอย่างไร ถ้าแจกผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ตนยังไม่ทราบรายละเอียด จึงยังไม่ขอวิจารณ์ ขอตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน

“พรรคเพื่อไทยที่โดนโจมตีตลอดว่าประชานิยม  แต่ไม่เคยที่จะแจกเงินฟรีๆ เงินทุกบาทที่ลงไปให้ประชาชนในชุมชนหมู่บ้าน  ล้วนเป็นการลงไปสร้างรายได้สร้างทรัพย์สิน   หน้าแล้งตนมาดูงานธนาคารน้ำใต้ดิน  เรายังให้เงินลงไปถึงหัวไร่ปลายนา  ระบบน้ำใต้ดินลงทุนต่ำ  แต่การให้เงินคือให้เงินไปเพื่อขุดบ่อพื้นที่หัวไร่ปลายนา  ทำให้หน้าแล้งมีน้ำใช้  ประชาชนรู้สึกว่ามีคุณค่า” คุณหญิงสุดารัตน์  ระบุ

ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า  ที่ผ่านมาจ่ายผ่านบัตรโน้นบัตรนี่  ท้ายสุดต้องไปรูด  รูดเอาเงินไปคืนนายทุนใหญ่หมด  มันไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง  ต้องลงไปในชุมชน แล้วให้เกิดการหมุนเวียน ไม่ใช่หมุนเวียนขึ้นข้างบน  ต้องหมุนเวียนลงระดับชุมชน  นี้คือสิ่งที่ชาวบ้านที่ต้องกระจายรายได้  กระจายกำลังซื้อลงมาในท้องถิ่น

คิดง่ายๆเรื่องของการแจกเงิน  แจกแล้วผ่านบัตรอะไร  คุณยายไม่สามารถใช้พร้อมเพย์ได้ ถ้าใช้นโยบายเดียวกันเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะแจกจ่ายเงินในครัวเรือนสู่ชุมชน  อย่างที่บอกต้องกระจายให้ครบหัวไร่ปลายนา  ไม่ใช่ว่าจะอยู่ของเขาคนเดียว การจ้างงานมันคือการกระจายงานสู่ชุมชน  นี่คือเป็นข้อติติง  คิดจะแจกเงินง่ายๆ แจกเงินชุ่ยๆ มันไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หากแจกวิธีเดิมๆคือหมุนข้างล่างไปด้านบน  ยิ่งไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเลย  และมีข้อสังเกตว่าขนาดนี้ประชาชนเป็นหนี้อยู่   พอจ่ายไปแล้วก้อนแรกที่ต้องใช้  คือต้องไปใช้หนี้ ถ้าเอาไปใช้หนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เลย  สมมุติว่าจะแจกจริงๆ ให้เอาตัวอย่าง อบต.ฯ แต่ต้องให้มีแหล่งน้ำของครอบครัวอยู่ตามหัวไร่ปลายนา  ให้เขาไปใช้เงินแบบนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า

เมื่อถามว่า การแจกเงินไม่สร้างการผลิต แต่แจกโดยตรงสุดท้ายจะนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ  คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า  “จริงๆแล้วเห็นมาหลายปี  เขาก็แจกมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่เป็นรัฐบาล ปีนี้ก็เข้าสู่ 3-4 ปีแล้ว ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าการแจกไม่ได้มองถึงผลของการที่จะเกิดการใช้จ่าย การกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นล่างและรากฐานได้จริงๆ  มองแต่ว่าอาจจะแจกเพื่อคะแนนนิยม  แล้วขึ้นไหลไปอยู่ข้างบน  มันไม่สามารถแก้ไขเศรษฐกิจได้  ถ้าแก้ไขได้ 2-3 ปีมานี้  เราจะไม่วิกฤตแบบนี้  ดังนั้นวิธีเดิมใช้ไม่ได้   เห็นด้วยต้องกระจายเงินมาที่ครัวเรือนและชุมชน  แต่วิธีการกระจายต้องให้หมุนเวียนในชุมชนได้  อย่างที่บอกเงินก้อนแรกจะต้องไปส่งเจ้าหนี้ก็จบล่ะW

ต่อข้อซักถาม รัฐบาลจะแจกเงินแสนล้าน อ้างว่าสู้โควิค-19 กลับมาระดมเงินขอรับบริจาคเองมองอย่างไร คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า  เป็นเรื่องที่ค่อนข้างย้อนแยง  จะว่าตลกก็ได้ ทุกครั้งที่มีวิกฤตเช่นน้ำท่วม โควิด 19 ไม่เข้าใจว่าจะมาขอรับบริจาคเพื่ออะไร  น้ำท่วมคนไปบริจาคเยอะอยากจะช่วยพี่น้อง  ยังไม่ทราบว่าในบัญชีเงินเหลือเท่าไหร่  ส่วนโควิด 19 รัฐบาลรับบริจาค  มันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เลย สู้ไปบริหารงบให้ดีจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจ

“ตราบใดมาตรการรัฐยังสับสนไม่เด็ดขาด  ยังไม่สร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องคนไทยด้วยกันว่ารัฐจะเป็นที่พึ่งการป้องกันโรคโควิด-19 หรือจัดหาเครื่องป้องกันให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ เช่นหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ได้แล้ว ยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงอีก  การไม่บอกข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชน  ไม่มีมาตรการที่มาตรฐานและไม่สับสนมันจะซ้ำเติมเศรษฐกิจ”

หรือกรณีมีข่าวลือว่าแรงงานเกาหลีใต้พวกผีน้อย  กลับไปบ้านเกิด แล้วไปโน้นไปนี่ หยิบไอ้นั้น  ปรากฏว่าคนไม่กล้าออกจากบ้าน ไปเดินห้างไปกินข้าวไปตลาด มีข่าวลือว่าแรงงานไปตรงนั้นตรงนี้  ไม่ได้ถูกกักตัวเฝ้าสังเกตอาการจริง  แต่ถ้ารัฐบาลมีมาตรการชัดเจนเฉียบขาด  เกิดความมั่นใจ   เช่นไปกินร้านหมูกระทะ เอาหน่วยงานของรัฐเข้าไปสกรีน ประกาศให้ความมั่นใจว่าเป็นที่ปลอดภัย คนก็จะกลับไปกิน  วันนี้มันคลุมเครือคนไม่กล้าไปไหนเลยยิ่งซ้ำเติม  เรื่องโควิดตนจะให้สัมภาษณ์มาตรการอีกครั้ง   ถ้าไม่มีมาตรการแข็งแรง สร้างความมั่นใจ  จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน