จังหวัดน่าน ชาวจังหวัดน่าน ทำพิธีบวงสรวงเจ้าหลวงพญาภูคา เพื่อน้อมรำลึก และแสดงออก ถึงความกตัญญูกตเวที ต่อเจ้าเมืองวรนครในอดีตประจำปี63 และชมดอกชมพูภูคาที่กำลังเบ่งบานในช่วงเวลาขณะนี้
ข่าววันนี้ น่าน วันที่ 7 มีนาคม 2563 ที่ศาลเจ้าหลวงภูคา อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน นายชนาธิป เสมแย้ม นายอำเภอปัว เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อหลวงภูคา และประกอบพิธีทางศาสนา
เพื่อทำบุญอุทิศพระราชกุศลถวายเจ้าพญาภูคา เพื่อเป็นการแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ต่อเจ้าเมืองวรนครในอดีตประจำปี 2563 ให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดน่าน จากจังหวัดระยอง และจากจังหวัดต่างๆ
ที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาเจ้าพ่อหลวงภูคา มาร่วมในพิธี เป็นจำนวนมากกว่า 300 คน พร้อมกับได้มายลโฉมดอกชมพูพูคา ที่กำลังเบ่งบานสะพรั่งมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาขณะนี้ก็ยังมีความสวยงามอยู่
ประวัติศาสตร์เมืองน่าน เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ.1825 ภายใต้การนำของพญาภูคา และนางพญาจำปา ผู้เป็นชายา ซึ่งทั้งสองเป็นชาวเมืองเงินยาง ได้เป็นแกนนำพาผู้คนอพยพมาตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองล่าง ต่อมาเพี้ยนเป็นเมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่างบริเวณตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว เลยไปถึงลำปั่ว
ใกล้ทิวเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว บ้านทุ่งฆ้อง บ้านลอมกลาง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน และกำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ เห็นชัดเจนที่สุดคือบริเวณข้างพระธาตุจอมพริกบ้านเสี้ยว
มีกำแพงเมืองปรากฏอยู่ซึ่งเป็นปราการทิศใต้ และป้อมปราการทิศเหนือลักษณะที่ปรากฏเป็นสันกำแพงดินบนยอดดอยม่อนหลวง บ้านลอมกลาง เป็นกำแพงเมืองสูงถึง 3 ชั้น ในแต่ละชั้นกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร ขนานไปกับยอดดอยม่อนหลวง
ต่อมาพญาาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คนไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองพระบาง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนครหรือเมืองปัว
ภายหลังขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่างและมอบให้ชายาคือนางพญาแม่ท้าวคำปิน ดูแลรักษาเมืองปัวแทน
เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน ในช่วงที่เมืองปัวว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่นั้น พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองในเขตเมืองน่านทั้งหมด
นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายชื่อว่าเจ้าขุนใส เติบใหญ่ได้เป็นขุนนางรับใช้พญางำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็นเจ้าขุนใสยศ ครองเมืองปราด ภายหลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา และได้รับการสถาปนาเป็นพญาผานอง ขึ้นครองเมืองปัวอย่างอิสระระหว่างปี 1865-1894 รวม 30 ปี จึงพิราลัย
ซึ่งการทำพิธีบวงสรวง เจ้าหลวงภูคา ในครั้งนี้ ได้มีประชาชนทั้งในจังหวัดน่านและต่างจังหวัด ต่างได้พร้อมใจกัน นำสิ่งของมาบวงสรวง เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณหลังจากได้ขอพรและประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะทางครอบครัวของ นายเมธา ยอดแสงเงิน และคุณแม่วรรณา จำปาทอง เจ้าของกิจการเรือประมงในจังหวัดระยอง และชาวประมงในพื้นที่จังหวัดระยอง เกือบ 30 คน
ต่างได้นำอาหารทะเล สด มาประกอบเลี้ยงให้กับผู้มาร่วมงานด้วย ซึ่งต่างได้บนบานสานกล่าว ขอให้กิจการเจริญรุ่งเรืองและได้สมคำปรารถนา ต่างพร้อมใจกันมาร่วมพิธีโดยในครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 7 ที่ครอบครัวของ นายเมธา(ยอดแสงเงิน และคุณแม่วรรณา จำปาทอง เจ้าของกิจการเรือประมงในจังหวัดระยอง ร่วมกันนำอาหารสดจากทะเล มาปรุงอาหารให้ผู้ร่วมงานได้ทานกันอย่างเอร็ดอร่อยอีกด้วย
77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: