เผาหุ่นวีรกร/พรมงคลสาปส่งลงหม้อ หลังพบสับขาหลอกสร้างเขื่อนใหญ่กั้นน้ำยม
ผู้สือข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ เวลา 08.00 น.วันที่ 14 มีนาคม ชาวตำบลสะเอียบ จำนวน 2,000 คน รวมตัวกันที่เจ้าพ่อหอแดง หมู่ 6 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ นำโดยสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และแกนนำชาวสะเอียบทุกหมู่บ้าน ร่วมประกอบพิธีท้องถิ่น ตามความเชื่อของชุมชน ด้วยการปั้นดินเหนียว เป็นหุ่นปั้นสัญลักษณ์แทนตัวนายวีระกร คำประกอบ ส..ส.จังหวัดนครสวรรค์ และนายพรมงคล ชิดชอบ ผู้แทนกรมชลประทาน พร้อมนำเข้าพิธีสาปแช่งและเผาหุ่นทั้งสอง หลังจากชาวบ้านทราบว่า ทั้งสองเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนโครงการพัฒนาน้ำยมตามแผนที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมมาเป็นโครงการขนาดใหญ่มีผลกระทบกับป่าดงสักงามและที่ทำกินของชาวสะเอียบ
หลังจากนั้นนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ได้นำชาวบ้านร่วมอ่านแถลงการณ์เนื่องใน “วันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม ว่า ปัจจุบัน หมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนแล้วควรคิดวิธีจัดการปัญหาน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ยุคแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เขื่อนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติวิถีวัฒนธรรมชุมชน แทนการสร้างเขื่อนที่เต็มไปด้วยปัญหา แต่ประเทศไทยยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากเขื่อน ความจริงแล้วควรหาวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่ทำลายธรรมชาติ คืนธรรมชาติให้กับลุ่มน้ำให้มีการไหลอย่างเป็นธรรมชาติอิสระ ค้นหาแหล่งเก็บน้ำใต้ดินเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในแถลงการณ์กล่าวด้วยว่า ชาวตำบลสะเอียบขอยืนหยัดในการต่อสู้การสร้างเขื่อนการฝันน้ำที่ฝืนธรรมชาติ ทุกรูปแบบและขอประณามทุกผู้ทุกคนที่ยังสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเรียกนามเขื่อนนั่นว่า “อ่างเก็บน้ำ ฝาย ประตูระบายน้ำ” เพราะสุดท้ายมันคือ “เขื่อน” และขอประณามหน่วยงานราชการและนักการเมืองและทุกคนที่ยังสนับสนุนการสร้างเขื่อน ให้มีอันเป็นไปทุกคน และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองพี่น้องชาวสะเอียบ และทุกพื้นที่ที่ช่วยกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของตนเองให้คงอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน จากคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนตำบลสะเอียบ
และมีคำประกาศของชาวสะเอียบ ต่อ นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้แทนกรมชลประทานได้เสนอแผนการจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อคณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.จังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธาน ได้สร้างเขื่อนเตาปูน (เขื่อนยมล่าง) โดยกำชับว่าอย่าเรียกว่า เขื่อน ให้เรียกอ่างเก็บน้ำเตาปูน ข้อเท็จจริงอ่างเก็บน้ำเตาปูน ก็คือ เขื่อนยมล่าง ลดปริมาณกักเก็บน้ำให้เหลือ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และย้ายสันเขื่อนมาอยู่ในต.เตาปูน ห่างจากเขตต.สะเอียบ 5 กม. ห่างจากจุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 10 กม. ซึ่งถือเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งน้ำจะท่วมเข้าเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมแอ่งป่าสักทองเหมือนเดิม อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ใหญ่กว่าเขื่อนลำตะคองในภาคอีสานเสียอีก ชาวสะเอียบยืนยันการคัดค้านเขื่อนดังกล่าวถึงที่สุดและขอเรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าว ไม่ต้องเข้ามาทำ EIA เพราะพื้นที่เหล่านี้เสียค่าทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือหากินของเครือข่ายกรมชลประทานมาหลายครั้งมีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทแล้ว ชาวสะเอียบยืนยันคัดค้านถึงที่สุด จากคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางจังหวัดแพร่ กำลังเร่งในการฟื้นฟูการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดเนื่องจากน้ำยมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี นางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เสนอให้มีการจัดการน้ำโดยเฉพาะระบบน้ำใต้ดินและผิวดินการขุดบ่อน้ำในที่ดินเกษตรกร อย่างไรก็ตามในภาพรวมยังไม่มีการเร่งหรือผลักดันแหล่งเก็บน้ำในแผนที่ได้ดำเนินการ่วมระหว่างรัฐกับภาคประชาชน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ “สะเอียบโมเดล” ยังไม่คืบหน้าซึ่งมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 ยังคงล่าช้า และโครงการกักเก็บน้ำตันน้ำยมในจังหวัดพะเยา คือเขื่อนน้ำปี้ ก็ยังประสบปัญหาผู้รับเหมาดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนที่จะเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้สามารถกักเก็บน้ำได้ในฤดูฝนปี พ.ศ. 2563 แต่โครงการเชื่อว่าจะต้องมีการประกาศหาผู้รับเหมารายใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปีรวมเวลาการก่อสร้างใหม่ สาเหตุของความล่าช้าน่าจะมาจากกลไกภายในที่ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการได้คล่องตัว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: