X

ธ ก ส ราชบุรีร่วมกับชุมชนบ้านหนองแดง   สร้างฝายชะลอน้ำแก้ภัยแล้ง

ราชบุรี     จากสภาพพื้นที่ของ จ.ราชบุรี หลายแห่งกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน สามารถมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ปลูกพืชผลการเกษตรได้ในช่วงหน้าแล้ง และมีน้ำใช้จนถึงช่วงฤดูฝน

           ในวันนี้( 17 มี.ค. 63 ) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.ราชบุรี  จึงได้จัดโครงการ “ สายธารร่วมใจ สร้างฝายมีชีวิตเฉลิมพระเกียรติ ” ขึ้น ที่บริเวณชุมชนบ้านหนองแดง หมู่ 3 ต.บ้านคา อ.บ้านคา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีนายเฉลิมชัย   ชาตะรัตน์ รองฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ส.อ.ชัยวัฒน์ หาญธนะสุกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.ราชบุรี นางอรุณ ซือบั้ว ผู้จัดการสาขาสวนผึ้ง นายณฤทธิ์ บุญชัย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายสมบัติ เสียมทอง ปลัดอาวุโส อ.บ้านคา  นายฉัตรชัย ธนิกกุล นายก อบต.บ้านคา นายสุวิทย์ เดชมาก กำนัน ต.บ้านคา  และ นายหาญ ลายคล้ายดอก ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมชาวบ้านช่วยกันสร้างฝาย โดยมีการนำเชือกมาร้อยมัดบริเวณเสาไม้ไผ่ที่ตอกเรียงเป็นแถวยาวจนแน่นหนา จากนั้นนำทรายใส่กระสอบช่วยกันนำไปวางซ้อนทับเป็นชั้น ๆ กลายเป็นฝายชะลอการไหลของน้ำ สามารถช่วยกักเก็บไว้ใช้ในพื้นที่ในช่วงหน้าแล้งได้  และยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภค ด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์  ส่งเสริมสนับสนุนผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการพึ่งพาตนเองในพื้นที่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและความสามัคคีของชาวบ้านในชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 147 ครัวเรือน รวม 452 คน มีพื้นที่ทำการเกษตร 4,000 ไร่ ปลูกผลไม้ ทั้งไร่สับปะรด  และผักสวนครัว

      ด้านนายเฉลิมชัย ชาตะรัตน์ รองฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตกธนาคาร ธ.ก.ส.  เปิดเผยการจัดโครงการว่า   ที่หมู่บ้านหนองแดงถือเป็นหมู่บ้านต้นน้ำ แต่กลับไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนด้านการทำอาชีพการเกษตรในพื้นที่ ธนาคารจึงได้คัดเลือกหมู่บ้านแห่งนี้จัดสร้างฝาย เป็นรูปแบบของฝายมีชีวิต ทุกชีวิตที่อยู่รอบฝ่ายก็จะได้ยังประโยชน์  ชาวบ้านที่ดูแลพื้นที่ รวมทั้งถึงเรื่องการทำมาหากินของเกษตรกรสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ ฝายเฉลิมพระเกียรติที่จัดสร้างนี้ ทาง ธ.ก.ส.มีการสร้างไปแล้ว จำนวน 77 ฝาย   แต่ละจังหวัดจะได้คัดเลือกพื้นที่สร้างจำนวน 1 ฝาย  ทาง ธ.ก.ส.มีโครงการต่อเนื่องสร้างฝายมาแล้วกว่า 3,000 ฝาย กระจายอยู่ทั่วประเทศช่วยดูแลเกษตรกรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำที่เกิดปัญหาแห้งแล้งได้ต่อเนื่อง อนาคตกำลังทำต่อไป เพื่อให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี