มหาสารคาม – เกษตรกรผลิกผืนนาที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หันมาทำนาบัวอินทรีย์ ลงทุนครั้งเดียวแต่เก็บขายได้ทั้งปี
อีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่นา 7 ไร่ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและขาดทุนมาโดยตลอด หันมาทำนาบัวอินทรีย์ ที่มีขั้นตอนการปลูกง่ายแต่ให้ผลผลิตเก็บขายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี จนสร้างรายได้ให้ครอบครัวปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาท
นายอรรถสิทธิ์ ลุนบง เกษตรกรเจ้าของนาบัว บ้านหัวขัว หมู่ที่ 4 ต.แกดำ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม เล่าว่า ตนเองมีที่นาปลูกข้าว 7 ไร่ ที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมช้ำซาก ทำให้ได้ผลผลิตน้อยปีละ 2-3 ตัน นำไปขายตามโรงสีข้าว เมื่อได้เงินมาหักลบกลบหนี้เหลือเป็นกำไรเพียงปีละ 20,000-30,000 บาท เท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันที่ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง ทั้งค่าไถ ค่าหว่าน ค่าดำนา ค่าปุ๋ย ค่าจ้างเกี่ยวข้าว ล้วนสูงขึ้นจนคิดว่าหากเดินหน้าทำนาต่ออาจขาดทุนหนัก ตนเองจึงได้คิดเลิกที่จะทำนาข้าว หันมาทำนาบัวแทน เพราะเคยเห็นเพื่อนเกษตรกรปลูกดอกบัวขายแล้วสร้างได้รายดี ลงุทนครั้งเดียวแต่เก็บดอกขายได้ทั้งปี ไม่ต้องดูแลอะไรมาก แถมดอกบัวเป็นดอกไม้ที่ใช้ทุกเทศกาลเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยตนเองได้พันธุ์บัวหลวงฉัตรบ้านญาติจากอำเภอกันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
ข่าวน่าสนใจ:
เริ่มทำนาบัวมาตั้งแต่ปี 2557 บนพื้นที่ 7 ไร่ เลือกปลูกบัวฉัตรสีขาวและสีแดง ซึ่งดอกบัวสีขาวนิยมนำไปไหว้พระ ส่วนสีแดงนิยมนำไปไหว้เจ้า สำหรับการดูแลจะเน้นการปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใช้สารเคมี แต่ต้องควบคุมหญ้า หากมีโรคแมลงรบกวนจะใช้วิธีถอนทำแปลงใหม่ หรือไถย่ำทำแปลงใหม่ โดยทั่วไปจะต้องทำแปลงย่ำติดใหม่ 2 ปี ต่อครั้ง แบ่งทำทีละครึ่งแปลง เพื่อให้มีดอกบัวส่งลูกค้าตลอดทั้งปี ระยะเวลาการปลูก 3 เดือนจึงจะเก็บดอกบัวขายได้ ส่วนช่วงเวลาเก็บดอกบัวจะเริ่มเก็บประมาณเวลา 16.00 – 17.30 น หากเก็บตอนเช้าดอกบัวจะไม่สวยและเหี่ยวง่าย เพราะบัวไม่ชอบแดด
ขั้นตอนการเก็บดอกบัวไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงเลือกขนาดดอกบัวที่เหมาะสม หักก้านยาวประมาณ 1 ฟุต นำไปมัดเป็นกำแช่ในน้ำเพื่อรักษาความสด แล้วส่งตลาดในตอนเช้ามืด ส่วนราคาดอกบัวจำหน่ายดอกละ 1 บาท สำหรับในช่วงเทศกาลหากมีลูกค้าสั่งจำนวนมากก็ต้องใช้เวลาเก็บทั้งวันซึ่งจะเก็บได้ วันละ 1,800-2,000 ดอก หากเป็นช่วงเทศกาลจะมีลูกค้ามาสั่งจองสูงมาก จนเก็บไม่ทันลูกค้าก้จะลงไปเก็บดอกบัวเอง ทำให้ตนเองมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่าแสนบาท ซึ่งทำให้ตนเองสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ตนยังได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและลงทุนในปัจจัยการผลิตที่สูง หันมายึดหลักพอเพียง ลดต้นทุนและลดการใช้สารเคมีเพื่อให้พืชผักสด สะอาด ปราศจากอันตราย โดยปรับปรุงพื้นที่นารอบ ๆ บ้านให้เป็นสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กิน เหลือกินจึงเก็บขาย จนทุกวันนี้เริ่มมีเกษตรกรจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาศึกษาเรียนรู้วิธีจัดการพื้นที่เพื่อเกษตร ซึ่งถือเป็นความภูมิใจที่ได้เป็นแบบอย่างให้เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: