ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการฝนหลวง ที่ทาง สนง.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดขึ้น เพื่อร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ทั้งประมงจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด เกษตรจังหวัด และเครือข่ายภาคเกษตรกร ประกอบด้วยผู้จัดการแปลงใหญ่ กลุ่มข้าวอินทรีย์ สหกรณ์การเกษตร เครือข่ายข้าวโพด และอาสมัครฝนหลวง 9 อำเภอ วางแผน ปรับทิศทาง พร้อมรับทราบสถานการณ์น้ำภาคการเกษตร ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน รับมือภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง และ แล้งซ้ำซาก
นายนายสมชาย จงบัญญัติ เกษตรและสหกรณ์(กษ.)จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของนาย กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผลักดันโครงการพืชหลังนา เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร คือ น้ำ แม้จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเขื่อนสิริกิริติ์เป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำมากถึง ร้อยละ 79 หรือ 7530 ล้าน ลบ.เมตร แต่จำเป็นที่เกษตรกร 9 อำเภอทั้งในและนอกเขตชลประทาน ต้องทราบถึงสถานการณ์น้ำ การบริการจัดการน้ำ การเก็บกักน้ำไว้ในเองช่วงฝนตก และช่องทางการขอฝนหลวงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสียหายต่อพืชและสัตว์เลี้ยง จึงร่วมกับหน่วยงานสังกัด กษ.จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ วางแผนโมเดลการบริหารจัดการน้ำ และจัดอาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดอุตรดิตถ์ ขึ้น ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดแนวทาง ในเขตชลประทาน จนท.ต้องเร่งชี้แจ้งสถานการณ์น้ำแหล่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศให้ประชาชนรับทราบ เพื่อรองรับการปลูกพืชตามโครงการของรัฐบาล โดยเฉพาะพืชหลังนา ส่วนนอกเขตชลประทานกรมพัฒนาที่ดิน ปฏิรูปที่ดิน สนับสนุนเรื่องบ่อขนาดเล็ก ขุดสระเก็บน้ำฝนตามหัวไร่ปลายนา รวมไปถึงการทำฝ่ายชะลอน้ำ ตามโครงการไทยเข้มแข็ง ยั่งยืน หนุนให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยช่วงต้นแล้ง ที่ดินยังมีความชุ่มชื่น อุ้มน้ำ สามารถทำการเกษตรได้ 1-2 เดือน ส่วนแหล่งที่ขาดแคลนน้ำ แล้งซ้ำซาก จัดให้มีอาสมัครฝนหลวงทุกอำเภอ เพื่อช่วยเหลืองานพระราชดำริฝนหลวง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ประสานงานกับประชาชน และส่วนราชการในพื้นที่ด้านการปฏิบัติการฝนหลวง รับมือกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และอนาคต คัดเลือกตัวแทนด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนภาคการเกษตร ภาคราชการ และภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือ และสนับสนุนภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงในการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และผู้ใช้น้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้อาสาสมัครฝนหลวงเป็นตัวแทน และเครือข่ายร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: