วันที่ 10 เมษายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงความคืบหน้ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้สั่งการ พร้อมประเมินสถานการณ์ หลังประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทั่วราชอาณาจักร เวลา 22.00-04.00 น ครบ 1 สัปดาห์ โดยสรุปเป็นด้าน ๆ ดังนี้
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย มาตรการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส รณรงค์เพิ่มระยะห่างทางสังคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (Work from Home) กลไกการทำงานที่ขันแข็งของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. กว่าล้านคนทั่วประเทศ มุ่งเน้นพิกัดและเฝ้าระวังเชื้อ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดหาหน้ากาก n95 เพิ่มอีก 200,000 ชิ้น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถอบความร้อนรังสี UVC ให้กลับมาใช้ได้ถึง 4 ครั้ง ส่วนหน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์-พยาบาลทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ที่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนหน้ากากผ้าสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย มอบหมาบให้แต่ละชุมชนผลิต เพื่อแจกจ่ายกันเองครบตามเป้าหมายแล้ว 50 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่าเพียงพอ
ในส่วนการนำเข้ายาจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ดำเนินการไปแล้ว 5 ครั้ง 187,000 เม็ด และอยู่ระหว่างจัดหาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมรองรับ การดูแลผู้ป่วย 98 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเพิ่มห้อง ICU อีก 80 เตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต รวมถึงความพร้อมสถานที่กักตัวเฝ้าระวังของรัฐ ทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ซึ่งจะสามารถรองรับได้ประมาณ 20,000 คน
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร…
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
- ชิง ส.อบจ.เพชรบูรณ์ ส่อเดือด! นักการเมืองรุ่นใหม่ทยอยเปิดตัว ท้าชนแชมป์เก่า
- นายก อบจ.ระยอง ประกาศลาออกก่อนครบวาระ 1 วัน พรัอมลงชิงชัยตำแหน่งนายก อบจ.ระยอง อีกหนึ่งสมัย
ด้านการป้องกันและการให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง ประกอบด้วย การกำจัดการเดินทางระหว่างจังหวัด และการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศเวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยจัดกำลังพล 20,000 นาย ตั้งจุดตรวจมากกว่า 1,000 แห่ง ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากประชาชนดีขึ้นเพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ฝ่าฝืนและมั่วสุมชุมนุมกันในยามวิกาลกว่า 6,500 ราย ในช่วงวันที่ 3-10 เมษายน ซึ่งไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปในแง่ของการจำกัดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องการให้ใช้กฎหมายรุนแรงยิ่งขึ้น หรือขยายเวลาประกาศเคอร์ฟิว จึงขอเตือนให้บุคคลที่ขาดจิตสำนึกเหล่านี้ และทำคนหาเช้ากินค่ำเดือดร้อน แก้ไขตัวเอง แต่ยืนยันยังไม่มีแนวคิดขยายเวลาการออกนอกเคหสถาน
ด้านการควบคุมสินค้า 1 เดือนที่ผ่านมา จับกุมและดำเนินคดีการขายสินค้าเกินราคา 20 ราย ไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า 36 ราย ขายสินค้าสูงหรือต่ำเกินสมควร จนทำให้เกิดความปั่นป่วน 75 ราย จากผลการประกาศให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นสินค้าควบคุม จับกุมได้ถึง 334 คดี สามารถยึดของกลางหน้ากากอนามัยกว่า 2 ล้าน 7 แสนชิ้น แอลกอฮอล์มากกว่า 30,000 ลิตร ชุดตรวจโควิด-19 61 ชุด และเครื่องตรวจอุณหภูมิ 4,000 เครื่อง มูลค่ารวม 177 ล้านบาท
ด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลักการสำคัญ รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาและดูแลทั้งทางตรงและทางอ้อม ในระยะที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นระยะเร่งด่วนสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะที่ 3 เพื่อรักษาเยียวยาและเตรียมความพร้อม 1 ล้าน 9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP พร้อมกับออกพระราชกำหนด ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเงิน 1 ล้านล้านบาท ในกลุ่ม 3 แผนงานหลัก ได้แก่ สาธารณสุข งบประมาณรวม 600,000 ล้านบาท กระตุ้นการลงทุนยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาวซึ่งแผนงานนี้ใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาท ให้การช่วยเหลือประชาชนธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศที่สำคัญวงเงิน 500,000 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งผ่อนผันการจ่ายทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน และการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าข่ายการช่วยเหลือจากมาตรการนี้ 1.7 ล้านราย รวมถึงออก พ.ร.ก. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในวงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ และเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปรับลดงบประมาณปี 2563 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของวงเงิน เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งปัญหาโควิด-19 ภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่น ๆ
โดยคณะรัฐมนตรีจะเร่งเสนอร่างกฎหมายโดยเร็ว คาดว่าจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน 2563 นอกจากนี้ ยังอนุมัติเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ กว่า 45,000 อัตรา ทั้งข้าราชการตั้งใหม่ 38,000 อัตรา และนักเรียนแพทย์กว่า 7,000 อัตรา พร้อมปรับเกลี่ยแพทย์แผนไทยจากอัตราที่ว่างอยู่
การปรับเพิ่มหน่วยวใช้ไฟฟ้าฟรีจาก 50 หน่วย เป็น 90 หน่วยต่อเดือน สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ แก่ประชาชน 6 ล้าน 4 แสนราย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังพิจารณาประโยชน์ทดแทนการว่างงานของผู้ประกันตน โดยอนุมัติหลักการ ให้กระทรวงแรงงานร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้ประโยชน์ทดแทนจากการว่างงานใน 2 กรณี คือ กรณีวิกฤตเศรษฐกิจและเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับผลประโยชน์ทดแทนการว่างงาน ครอบคลุมจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้านการต่างประเทศ เน้นการจัดการผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 วัน ปัจจุบันมีการชะลอการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไปถึงวันที่ 18 เมษายน เนื่องจากสถิติพบว่า ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ในรูปแบบเงินช่วยเหลือ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
ด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ปัจจุบัน ยังคงมีข่าวปลอมข่าวบิดเบือนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ มีถึง 26 คดี มีการจับกุมและแจ้งข้อหา 10 คดี ผู้ต้องหา 13 ราย และออกหมายเรียกอีก 3 คดี จึงขอให้อย่าส่งต่อข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ
ตั้งแต่ 4 มกราคม ถึงปัจจุบัน ที่ได้ร่วมต่อสู้กันมา การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้มียอดผู้ป่วยอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำ และมีความพร้อมรับมือในทุกด้าน เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า การดำเนินการของไทยมีประสิทธิภาพ และประเทศต่าง ๆ ยกให้เป็นตัวอย่างในการรับมือ การแพร่ระบาดของเชื้อ ขอให้ทุกคนภูมิใจ และเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาล และอยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัด ขอสัญญาว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สัปดาห์หน้า เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีกิจกรรมที่สามารถแพร่กระจายเชื้อ รัฐบาลจะมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
1.งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ทุกระดับ
2.เว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา
3.เว้นการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ทุกคน
4.งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปยังพื้นที่ใกล้เคียงต่อการแพร่ระบาดของโรค
เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงาม และมีคุณค่าทางจิตใจ ขอให้ปฏิบัติ ดังนี้
1.สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน
2.แสดงความกตัญญูขอพรพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย
3.ส่งเสริมให้แสดงความรักและความกตัญญู ต่อบุพการี ผู้มีพระคุณที่อยู่ไกลกัน ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือสื่อออนไลน์ และเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่จะมาถึง ในนามของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขออวยพรให้ประชาชนทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจร่วมกันต่อสู้วิกฤตนี้ไปด้วยกัน และขอให้สงกรานต์นี้อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อครอบครัวให้ได้มากที่สุด ขอให้สัญญาว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พวกเรา คือ ทีมประเทศไทย หากเรารวมใจกันจะไม่มีอะไรมาทำลายเราได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: