เชียงราย-ภัยแล้งและวิกฤติไวรัสโควิดส่งผลกระทบผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม อ.เทิง ลูกค้าหายเกลี้ยง กุ้งตกค้างคาบ่อ เร่งหาทางระบาย
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 63 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านทุ่งขันไชย ม.7 ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย หลังจากผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามประสบปัญหาจากการปิดร้านเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบรุนแรง กุ้งตกค้าง รายได้หาย
บ่อกุ้งก้ามกรามพื้นที่บ้านทุ่งขันไชย มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งประมาณ 1,500 ไร่ เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามแหล่งใหญ่ของภาคเหนือ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงประมาณ 68 ราย และมีร้านอาหารที่ใช้กุ้งก้ามกรามเป็นวัตถุดิบจำนวน 5 ร้าน แต่ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องปิดร้าน ทำขายให้เฉพาะคนที่มาซื้อใส่ห่อกลับบ้าน ไม่มีบริการให้นั่งในร้านเหมือนที่ผ่านมา รายได้หดหายกว่า 95%
นายพันธุ์ชิต วรรณลาโภชน์ เจ้าของร้านบ่อกุ้งครัวมาลี เผยว่า ร้านของตนถือเป็นผู้เลี้ยงกุ้งรายแรกๆ ของอำเภอเทิง แต่ปีนี้เจอภาวะการระบาดของโรคโควิดจนต้องปิดร้าน รายได้ในวันปกติตอนยังไม่มีโรคโควิดเคยขายได้ประมาณวันละ 50 กก. แต่ช่วงเทศกาลเช่น ช่วงสงกรานต์ หรือปีใหม่ จะมีนักท่องเที่ยวมาเป็นพิเศษ เคยขายได้วันละ 300-500 กก. รายได้เคยได้สูงสุดประมาณวันละ 5-6 แสนบาท แต่ตอนนี้เจอวิกฤติโควิดรายได้หาย ขายได้แค่ 1,000-2,000 บาทต่อวัน บางวันขายได้แค่ 50 บาทก็ยังมี ผู้ประกอบการก็ได้พยายามปรับตัวหาทางขายกุ้งที่ตกค้างออกไปให้มากที่สุด บางบ่อก็นำกุ้งออกมาขายในราคาต่ำกว่าทุน ตั้งแต่ 250-350 บาท หากวิกฤติโรคระบาดยังคงไม่บรรเทาก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเหมือนกัน
ด้านนายชุมพล จำปีเจริญสุข เจ้าของบ่อกุ้งครัวหนูแดง กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของอำเภอเทิงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด ร้านอาหารที่มีประมาณ 5-6 ร้านต้องปิดชั่วคราว กุ้งที่พร้อมจะออกขายซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 ตันไม่มีที่ระบาย เพราะจากที่เคยส่งขายไปที่ลาวที่ท่าเรือเชียงแสน วันละประมาณ 800 กก. ก็ส่งไปขายไม่ได้เพราะท่าเรือปิด ประกอบกับภาวะภัยแล้งทำให้แม่น้ำลาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งลดระดับจนแห้งขอด ผู้เลี้ยงต้องปรับตัวโดยพยายามระบายกุ้งออกไปขายให้มากที่สุด ล่าสุดก็ได้ไปประสานกับสมาคมพ่อค้าอำเภอแม่สายเพื่อขอความช่วยเหลือหาช่องทางระบายกุ้งไปยังประเทศเมียนมาร์ และตนก็อยากวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกขนเข้ามาช่วยเหลือในการระบายกุ้งที่ตกค้างในช่วงนี้ออกไปให้มากที่สุด เพราะเกษตรกรเดือดร้อนมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: