ปทุมธานี พิธีรับมอบหุ่นยนต์เพื่อการพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 ให้กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย
วันนี้ (วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๓) พลอากาศโท เกรียงไกร โสธรชัย เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ รับมอบหุ่นยนต์เพื่อการพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 (RTAF Nursing_Bot) หรือ “น้องถาดหลุม” จำนวน ๓ ตัว จาก พลอากาศโท เดชอุดม คงศรี ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เพื่อนำไปมอบให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และ โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) นำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย COVID-19
สำหรับหุ่นยนต์ในชุดแรกที่ส่งมอบให้กรมแพทย์ทหารอากาศ มีจำนวน ๓ ตัว ประกอบด้วย
– น้องถาดหลุม A1 จำนวน ๒ ตัว ใช้สำหรับการลำเลียงอาหาร ยา และเสื้อผ้าให้ผู้ป่วย
– น้องถาดหลุม A2 จำนวน ๑ ตัว ที่นอกจากจะมีความสามารถในการลำเลียงอาหาร ยา และเสื้อผ้าแล้ว ยังมีชุดอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ ระบบตรวจจับใบหน้าซึ่งจะตรวจจับและบันทึกภาพผู้ป่วย พร้อมบันทึกวันเวลา และข้อมูลอุณหภูมิที่ตรวจวัดได้ลงบนภาพผู้ป่วย แล้วนำไปเก็บในระบบฐานข้อมูลที่แพทย์และพยาบาลสามารถเรียกดูข้อมูลผ่านมือถือได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งแท็ปเล็ตเพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถติดต่อสื่อสาร หรือสอบถามอาการจากผู้ป่วยได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
โดยจะมอบน้องถาดหลุม A1 และ A2 อย่างละ ๑ ตัว ให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และมอบน้องถาดหลุม A1 จำนวน ๑ ตัว ให้โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) ทั้งนี้ ทีมงานวิจัยได้ทำการฝึกการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่พยาบาลในการควบคุมน้องถาดหลุมผ่านวิทยุควบคุม โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลทุกคนสามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ในชุดต่อไปตามนโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศ จะพัฒนาการใช้งานให้เป็นแบบ AI ซึ่งไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่พยาบาลควบคุมการเคลื่อนที่ด้วยการบังคับวิทยุ และเพิ่มเติมขีดความสามารถอื่นตามความต้องการของแพทย์พยาบาลผู้ใช้งาน
นอกจากนี้ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ ยังได้รับมอบหุ่นยนต์จำนวน ๑ ตัว จาก คุณพีรพล ตระกูลช่าง กรรมการผู้จัดการบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ โดยหุ่นยนต์ตัวนี้พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร บนมาตรฐานหุ่นยนต์ใช้งานทางทหาร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาในประเทศและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งด้วยเหตุที่เป็นการพัฒนาเองทำให้สามารถควบคุมองค์ประกอบสำคัญทั้งหมด ปรับเปลี่ยนได้ทั้ง Hardware และ Software ชิ้นส่วนต่างๆ ที่สำคัญก็ออกแบบและผลิตในประเทศ ในกรณีนี้จึงสามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประกอบบางส่วนให้ตอบสนองต่อการใช้งานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อสนับสนุนการส่งของหรืออาหารในพื้นที่ควบคุม ลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยหุ่นยนต์สามารถรับน้ำหนักได้มาก มีรัศมีการควบคุมที่สามารถขยายได้ตามพื้นที่ปฏิบัติงาน ผู้ควบคุมสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้แบบสองทางผ่านระบบสื่อสารไร้สายได้อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: