แพร่แล้งกระทบส้มหมื่นไร่ เหี่ยวหนักลูกเล็กราคาดิ่งเหวรอฝนสถานเดียว. ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ดูพื้นที่เอง ยันเร่งแก้ปัญหาตลาด แหล่งน้ำ พัฒนาระบบการผลิตครบวงจรผ่านแผนเกษตรอินทรีย์
เวลา 10.00 น. วันที่ 15 เมษายน นางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ไปที่ อบต.นาพูน อ.วังชิ้น จ.แพร่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่กี่ยวข้องกับภัยแล้ง เกษตรกรรม และการค้าขายพืชเกษตร. พบเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานในตำบลนาพูนพร้อมทั้งผู้นำหมู่บ้าน รับฟังปัญหาภัยแล้งเพื่อคิดหาทางออกแก้ปัญหาร่วมกัน
พบว่าปัจจุบันปัญหาภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้ต้นส้มเขียวหวานในสวนที่ไม่มีระบบน้ำที่ดีพอ หรือขาดแหล่งน้ำต้นทุน ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงทำให้ใบผลส้มเหี่ยวจนได้รับความเสียหายรุนแรงประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกส้มทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่. ส้มในปีนี้เนื่องจากเผชิญกับความแห้งแล้งทำให้ภาพรวมคุณภาพส้มเสียไป อาทิ ขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไปไม่สามารถนำเข้าตลาดได้แต่ยังคงมีความหวานมาก
ส่วนส้มที่อยู่ในเกรดมาตรฐาน มีขนาดเบอร์ 0 เบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องตากปัญหาไวรัสระบาดทำให้ตลาดหยุดชะงัก ราคาโดยเฉลี่ยจากกก.ละ 30 บาทเหลือเพียง 10 บาทเท่านั้น
นายวีระ เงินวิลัย ผอ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.แพร่. กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการจัดการน้ำ. ตำบลนาพูนพื้นที่เกษตรมีจำนวนมาก โดยเฉพาะส้มมีปลูกอยู่นับ 10,000 ไร่แต่เป็นพื้นที่โฉนดเพียง 4,000 ไร่เท่านั้น. ดังนั้นการช่วยเหลือด้านน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น อ่างเก็บน้ำต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เสียก่อน
ขณะนี้พบพื้นที่ช่วยเหลือเป็นพื้นที่ป่าต้องได้รับความเห็นชอบของเจ้าของสถานที่เช่นกรมป่าไม้. ขณะนี้หมู่ 7 ต.นาพูดกรมน้ำบาดานวางแผนการขุดเจาะบ่อบาดาลไว้แล้วรอท้องถิ่นส่งข้อมูลประกอบการอนุมัติให้ใช้พื้นที่
นางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่าเนื่องจากภัยแล้วจังหวัดแพร่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อสะดวกในการหางบประมาณมาช่วยเหลือเยียวยา จากนั้นต้องเร่งทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งมีการขอมาแล้ว จำนวน 10 บ่อขณะนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรขอเพิ่มขึ้นได้ภายในวันที่ 20 เมษายนนี้ ส่วนส้มที่กำลังให้ผลผลิต ที่มีขนาดมาตรฐาน ใหญ่เกินมาตรฐาน และเล็กต่ำกว่ามาตรฐาน จะมีการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆให้เปิดจุดจำหน่ายช่วยเกษตรกรและเปิดตลาดค้าปลีกและค้าส่งที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ นอกจากนั้นยังสั่งการให้คณะทำงานเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดแพร่เร่งปรับเปลี่ยนเกษตรการปลูกส้มเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ เรียกว่าพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำให้เกิดการส่งเสริมการแปรรูปส้มเป็นแยม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาวและยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: