พระนครศรีอยุธยา-กรุงเก่ายามเช้าสุดสดชื่น ธรรมชาติทั่วเกาะเมืองได้พักผ่อน ถนนโล่ง นกหายากและสัตว์หลากชนิดออกหากิน สัญญานรอวันกลับมาของนักท่องเที่ยว
ช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนอยู่กับบ้าน หรือเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง ทำให้มีความรู้สึกว่าธรรมาชาติในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดูร่มรื่น ต้นไม้มีสีเขียว ควัน ฝุ่นละอองน้อยลง ธรรมชาติได้พัก และฟื้นฟู หลายแห่งจะได้ยินเสียงนกร้องมากขึ้น มีนกแปลกๆที่ค่อยได้เห็นปรากฏตัว เช่นที่บริเวณใกล้กับคุ้มขุนแผน ด้านหลังวังช้างอยุธยาแลเพนียด มีนกนานาชนิดออกมาหาอาหาร ส่วนใหญ่เป็นนกกินแมลง
นกกะรางหัวขวาน (Common Hoopoe) มีลักษณะเด่นที่จำง่ายคือ มีหงอนคล้ายหมวกของพวกอินเดียแดงในอเมริกาสมัยก่อน ลำตัวมีลายขวางสีน้ำตาลอ่อน หรือขาวสลับดำ ปากยาวเรียวโค้ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่า และสีจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย ขณะแม่นกกกลูกอยู่ในรัง จะมีต่อมขับของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นออกมา กลิ่นนี้มาจากต่อมน้ำมันไต้ขน เชื่อกันว่านกกะรางหัวขวานใช้กลิ่นเหม็นนี้ป้องกันตัวไม่ให้สัตว์อื่นเข้าใกล้ เท่าที่ได้ศึกษาข้อมูล เป็นนกประจำถิ่นที่หาดูได้ทั่วไป แต่ก็ไม่ค่อยได้เห็น อาหารได้แก่ แมลง และตัวอ่อนของแมลง
พฤติกรรมชอบอยู่ตามทุ่งโล่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ และพื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งนาที่พอมีต้นไม้อยู่บ้าง อาจอยู่รวมกันเป็นฝูง ชอบส่งเสียงร้อง”ฮูป ฮูป ฮูป” หรือ “ฮูป ปู ปู” เวลาเดินส่ายหัวไปมา คุ้ยเขี่ยหาแมลงและหนอนตามพื้นดิน ไม่ชอบอาบน้ำแต่ชอบอาบทรายร้อนๆ แทนอาบน้ำ ที่สำคัญเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 นกกระรางหัวขวานทำรังในซอกไม้หรือซอกกำแพงเก่าๆ รัง สร้างด้วยฟางและเศษขน เป็นรังที่สกปรกมาก ในรังมีทั้งเศษอาหารและอุจจาระของตัวเอง วางไข่คราวละ 4-6 ฟอง ไข่สีฟ้าซีด ตัวเมียกกไข่ ส่วนตัวผู้จะหาอาหารมาให้ เป็นนกขนาดกลาง ลำตัวเพรียวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
ใครที่ไปเดินออกกำลังกายหรือเดินเที่ยวแถวบึงพระราม วังช้างอยุธยา คุ้มขุนแผน หรือวิหารพระมงคลบพิตร ช่วงนี้จะได้ยินทั้งกาเหว่า กางเขน นกเอี้ยง นกกระยาง หรือเห็นตัวเงินตัวทอง หรือแถววัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะจะพบเห็นกระรอกวิ่งกันอย่างมีความสุข รอการกลับมาของนักท่องเที่ยว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: