ขอนแก่น – ผู้บริหาร ‘สมาร์ทพุ่มพวง’ เผยคนส่วนใหญ่พอใจ แม้โดยธุรกิจยังเป็นไปได้ยาก เหตุกำลังซื้อไม่สูง เตรียมปรับแผนเสริมช่องโหว่ตลาดชุมชน
คุณบดินทร์ เสรีโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด และจัดทำโครงการ ‘สมาร์ทพุ่มพวง’ ขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว 77ข่าวเด็ด ถึงเสียงตอบรับที่มีต่อโครงการหลังทดลองวิ่งตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมาว่า
“หลังจากที่เราได้เริ่มทดลองนำร่อง วิ่งรถในสี่เส้นทางที่ผ่านมา ช่วงเวลาเกือบสองอาทิตย์นี้ก็พบว่ามีเสียงตอบรับเข้ามาหลายกระแส ในด้านที่ดีก็พบว่า ประชาชนให้ความสนใจบอกว่า คนที่อยู่บ้านก็ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ในการที่มีสินค้า ที่สะอาด มีคุณภาพไปขายถึงหน้าบ้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในบริบทเดิมที่ประชาชนสามารถเดินทางมาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในตลาดตามที่พอใจ เขาก็ต้องมีการปรับพฤติกรรมตัวเองพอสมควร ประกอบกับในหลายเส้นทางที่เราไม่สามารถวิ่งไปในช่วงที่ประชาชนต้องการจะซื้อได้ ก็เลยกลายเป็นว่า อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด
เช่นถ้าเป็นช่วงเช้าหลายๆ คนก็ต้องการจะซื้อของก่อนที่จะทำกับข้าว จะเป็นช่วงประมาณตีห้าครึ่งถึงประมาณ 7 โมง เพราะหลังจากนี้ก็จะเริ่มขายยากแล้ว แต่เราต้องวิ่งให้ครอบคลุมเส้นทางหลายแห่ง จะมีบางเส้นทางหรือบางช่วงที่เลยเวลาที่เขาจะซื้อของไป หรือช่วงบ่าย เราออกตั้งแต่บ่ายสองครึ่งบ่ายสามแล้วก็วิ่งไปจนถึงค่ำ แต่ว่าผ่านไปหน้าบ้านเขาตอนช่วงก่อนเลิกงาน มันก็เลยจะอาจจะไม่ตอบโจทย์นัก ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราจะต้องนำไปปรับ
แล้วก็มีเรื่องสินค้าที่เราต้องเอามาปรับปรุงก็คือ เราแพ็คสินค้าในปริมาณที่มากเกินไป จากเดิมที่เราแพ็คอยู่ประมาณถุงละ 250 กรัม ซึ่งเราก็คิดว่า ปริมาณไม่มากแล้ว แต่กลายเป็นว่า ประชาชนเขาอยากจะซื้อในปริมาณที่น้อยกว่านั้น บางทีเขาต้องการแค่ขีดเดียว แค่กำสองกำ เราก็ต้องมาปรับปรุงใหม่ ทำแพคเกจให้เล็กลง ที่เคยขาย 25 บาท ก็ลดลงเหลือแค่ 10 บาท 15 บาท แต่มันก็เพิ่มภาระให้เราในการต้องทำแพ็คเกจใหม่มากเหมือนกัน
สิ่งที่เราเห็นก็คือ วิกฤติครั้งนี้มีผลกระทบกับประชาชนอยู่ไม่น้อย เงินที่จะจับจ่ายมีไม่มาก หลายคนพยายามประหยัด ซื้อเฉพาะของกิน เอาที่จำเป็น อีกอย่างคือ ตอนนี้แต่ละบ้านก็อยู่กันเป็นครอบครัวที่เล็กลง การทำกับข้าวอะไรมันก็ทำในปริมาณที่น้อยลง
เรื่องประเภทสินค้าก็เป็นประเด็นคือ เราพบว่าชาวบ้านมีความต้องการสิ่งที่เป็นอาหารสดเป็นอันดับแรก ต้องการสินค้าหลากหลายแต่ในจำนวนที่ไม่มาก จากเดิมที่เราเริ่มนำสินค้าไปขายประมาณ 50-60 รายการ แต่ตอนนี้มีอยู่กว่า 100 รายการแล้ว ก็ปรับไปตามรายการสินค้าที่ลูกค้าอยากจะได้ ก็เป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้
ถ้าให้เรียงลำดับความต้องการที่ชาวบ้านเรียกร้องอยากให้เราเพิ่มเข้ามา อันดับแรกก็คงจะเป็นเรื่องเนื้อสัตว์ จริงๆ ตอนแรกเราเน้นขายผักหลายหลายชนิดเป็นหลักนะครับ กลายเป็นว่า ชาวบ้านมีความต้องการจะบริโภคเนื้อสัตว์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ต้องการกระดูกหมูเอาไปต้มซุป ต้องการเครื่องใน อยากได้ปีกไก่ อย่างที่สองคงเป็นเรื่องผัก อยากได้ผักที่หลากหลายมากขึ้น เช่น อยากให้มีผักพื้นบ้านมาขายด้วย มีหลายๆ อย่างมาสลับ ระดับต่อไปก็คงจะเป็นพวกของแห้งที่อยากให้มี เช่น วุ้นเส้น แป้ง กะปิ
เรื่องแอพพลิเคชั่น ตอนนี้ยังพัฒนาไม่เสร็จเรียบร้อย ก็มีเสียงเรียกร้องอยากให้มีแอพบ้างเหมือนกันส่วนใหญ่จะบอกว่า ไม่รู้ว่ารถผ่านมาตอนไหน แต่กลุ่มนี้มีไม่มาก เพราะอย่างหนึ่งคือ คนที่คุ้นเคยสามารถเข้าไปใช้แอพในเขตอีสานเองก็ยังมีไม่มาก แล้วรถของเราเองเวลาไปไหนก็เปิดเสียงค่อนข้างดัง แต่แน่นอนว่า ถ้ามีแอพก็จะดีกว่า อันนี้ก็คงจะเป็นในเฟสต่อไปหลังจากที่เราพัฒนาแอพเสร็จเรียบร้อย
ที่เราเคยคิดไว้ตั้งแต่แรกก็คือ โปรเจคนี้มันไม่ได้เป็นงานที่เรามุ่งมั่นที่จะหารายได้หรือกำไรมากมายอะไร ต้องการทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ทุกคนกำลังประสบปัญหา แต่หลังจากเดือนหน้าเป็นต้นไป หรือว่าเริ่มมีมาตรการปลดล็อคแล้ว คิดว่าประชาชนก็คงอยากกลับไปเดินเลือกซื้อหาสินค้าในตลาดกันมากกว่า แต่เราก็ยังคงเดินหน้าโครงการต่อไป แต่ก็คงจะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางกันอีก คงยังไม่เพิ่มจำนวนรถแต่คงจะปรับเส้นทางใหม่ เพราะหลังจากนี้เมื่อตลาดกลับมาเปิดได้ ประชาชนจะเริ่มออกมาซื้อหาสินค้า บางเส้นทางอาจไม่จำเป็น เราก็จะปรับให้เข้ากับปริมาณความต้องการซื้อของและความจำเป็น
- ขอนแก่นคิกออฟ โครงการรถสมาร์ทพุ่มพวง
- ขอนแก่นเปิดตัว “รถสมาร์ทพุ่มพวง” ตอบโจทย์นโยบายเว้นระยะห่าง
- “ขอนแก่นมาร์เก็ต” ธุรกิจโลจิสติกส์ที่มาพร้อมสถานการณ์ล็อคดาวน์
ถ้าถามว่า โครงการนี้สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจต่อไปในอนาคตได้ไหม ถ้าในแง่ของสังคมขณะนี้แน่นอนมันก็เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่ถ้าในมุมของนักธุรกิจ มันก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเท่าไรนัก เพราะมันไม่ได้ทำกำไรอะไรมากมาย ช่วงนี้เราโชคดีอย่างหนึ่งว่า ราคาน้ำมันค่อนข้างถูก แต่ถ้าในระยะยาวถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปกว่านี้และเราก็มีภาระที่จะต้องจ้างคนทำงาน มันก็ยังไม่ใช่ธุรกิจที่จะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำได้ แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่ทางจังหวัดร่วมกับบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง ทำขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน ก็ต้องมองในมุมนี้มากกว่า หากมองในแง่ของผลกำไร โครงการแบบนี้มันคงไม่ได้เกิดขึ้น”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: