เที่ยวยะลาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ไหว้ศาลหลักเมือง ลอดอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ลิ้มรส ไก่เบตง ชมความงามของว่าววาบูแล
จังหวัดยะลา 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ทันทีเมื่อได้มาเจอกับรอยยิ้ม และความเป็นมิตร จริงใจของคนยะลา มุมมองที่เคยมีต่อยะลาของเราก็เปลี่ยนไป ยะลา เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศ ไทย มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า ‘ยะลา ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน’ และมี อำเภอเบตง เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย
ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีมีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร ยะลาเป็นเมือง 2 ศาสนา คือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ ถึงแม้ว่าจะมีการปฎิบัติพิธีกรรมทางศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ในดินแดนปลายด้ามขวาน เรามักจะเห็นมัสยิดตั้งอยู่ข้าง ๆ วัด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะต่างศาสนาและต่างความเชื่อ แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือความรักในเพื่อนมนุษย์ ที่ทำให้ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา
จังหวัดยะลาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด (เหมือนเห็นในข่าว) บ้านเมืองสงบ ผู้คนออกมาใช้ชีวิตแบบปกติ เพิ่มเติมด้วยรอยยิ้ม ถึงแม้ว่าจะมีหลาย ๆ คน เตือนก่อนเดินทางมาจังหวัดยะลาว่าตอนกลางคืนไม่ควรออกไปไหน เพราะอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ แต่จริง ๆ แล้วกลับเป็นอีกมุมที่แตกต่าง อย่างถนนในเมืองเบตง เราจะได้เห็นร้านโรตี หรือร้านอาหารตั้งอยู่เต็ม 2 ฝั่งถนน กลายเป็นสถานที่ทำให้เราได้พบกับมิตรภาพของชาวเบตง จังหวัดยะลา
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตั้งอยู่ถนนพิพิธภักดี ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดยะลาเป็นที่สักการะบูชาของชาวจังหวัดยะลา นอกจากนี้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยังเป็นศูนย์กลางของผังเมืองแบบใยแมงมุม ซึ่งยะลาเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีผังเมืองที่สวยที่สุดในประเทศ
อำเภอเบตงเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศไทย มีลักษณะเป็นหัวหอกแหลมยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่แนวเทือกเขาสันกาลาคีรี มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพประมาณ 1220 กิโลเมตร อำเภอเบตงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น บ่อน้ำร้อนเบตง สวนดอกไม้เมืองหนาว หรือสถานที่ในเมือง เช่น หอนาฬิกาเมืองเบตง วัดกวนอิม และยังมีตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เที่ยวเบตง ต้องมาเดินชมหอนาฬิกาคู่บ้านคู่เมืองอำเภอเบตง ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมาช้านาน หอนาฬิกาแห่งนี้สร้างเป็นสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางของเมือง ณ บริเวณจุดตัดของถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ ด้วยหินอ่อนขาวนวลอันเลื่องชื่อจากยะลา ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องของความแข็งแรงดูสง่าน่ามองรอบๆหอนาฬิกาดูระโยงระยางไปด้วยสายไฟซึ่งในช่วงหัวค่ำสายไฟเหล่านี้จะเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า “นกนางแอ่น” เกาะบนสายไฟเต็มพรืดไปหมดนกนางแอ่นเหล่านี้หนีหนาวมาจากไซบีเรียมาอยู่เบตง ในช่วงเดือนกันยายนถึงมีนาคมยามหัวรุ่งพวกมันจะบินไปหาอาหารตามป่าเขา และกลับมาเกาะที่สายไฟในช่วงหัวค่ำเป็นอย่างนี้ทุกวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชิวิตคนเบตงซึ่งพวกเขาผูกพันและหวงแหนนกเหล่านี้ไม่น้อยเลย
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ วิศวกรรมชั้นยอดหนึ่งในแดนสยามและเป็นอุโมงค์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณถนนอมฤทธิ์ ตัดกับถนนภักดีดำรงผ่านสวนสาธารณะออกสู่ถนน บริเวณหน้าสวนนก เชื่อมต่อกับถนนมงคลประจักษ์ ทะลุไปสู่ชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว และเชื่อมต่อกับถนนอัยเยอร์เบอร์จัง ไปสู่ชุมชนธารน้ำทิพย์อีกทอดหนึ่งเป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไป-มาก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาวตลอดอุโมงค์ ประมาณ 268 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวจราจรคู่ กว้าง 7 เมตร ทางเท้าเดินกว้างข้างละ 1 เมตร ความเร็วรถสามารถวิ่งได้ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเงิน 182,000,000 บาท
ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของเบตง ที่คลื่นลมสงบ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย เดินทางมาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ที่โดดเด่นก็คือการมาเที่ยวชม สวนไม้ดอกเมืองหนาว เป็นสวนดอกไม้ขนาดใหญ่จัดแสดงดอกไม้นานาพรรณให้นักท่องเที่ยวได้ชมและถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลินสำราญอุรา
ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทะเลหมอกสุดสวยของภาคใต้และสวยอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ที่รับรองได้ว่าฟินทั้งอากาศและวิวแบบเต็มสองตา “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” ตั้งอยู่ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในเขตพื้นที่ของเขาไมโครเวฟ กิโลเมตรที่ 32 มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,038 ฟุต เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเต็มอิ่มกับการชมทะเลหมอกแบบหนา ๆ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดได้อย่างสวยงาม และจุดชมวิวไฮไลท์ของที่นี่อีกหนึ่งแห่งคือ บริเวณยอดเขาฆูนุงซีลีปัต (ฆูนุงสาลี) ที่ต้องเดินป่าขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อชมทะเลหมอกในมุมมองกว้าง 360 องศา แบบอันซีนไทยแลนด์เลย ปัจจุบันจุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวงได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอเบตง
โดยนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนั้นมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ส่วนช่วงเวลาในการเดินทางขึ้นไปชมทะเลหมอกนั้นควรเดินทางขึ้นไปตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นไม่เกิน 9 โมงเช้าทะเลหมอกก็จะค่อย ๆ จางหายไป เพราะระดับความสูง 2,038 เมตร จากระดับน้ำทะเล พิกัดเช่นนี้จึงสมารถมองเห็นทะเลหมอกได้อย่างสวยงาม นักท่องเที่ยวจะได้เห็นหมอกที่จับตัวกันเป็นชั้นหนา เต็มผืนฟ้า ล่องลอยอยู่ตรงหน้าของผู้ที่เดินทางมาสัมผัส และที่สำคัญสามารถมองเห็นได้ตลอดทั้งปี และได้มีการพัฒนาพื้นที่จุดชมวิวทะเลหมอก ด้วยการสร้างอาคารหอชมวิว พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม มีจุดถ่ายภาพชมวิวที่หลากหลาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้บันทึกภาพแห่งความประทับใจ
วัฒนธรรมอาหารของยะลามีความน่าสนใจ เพราะเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการกินของทั้งไทย จีน และอิสลามเข้าไว้ด้วยกัน อย่าง นาซิดาแฆ เมนูสุดฮิตของชาวไทยมุสิลมที่สามารถหาทานได้ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น หรือจะเป็นไก่เบงตง เนื้อไก่นุ่ม ๆ กับหนังไก่หนุบหนับ ราดด้วยซีอิ๊วเบตง และน้ำมันงา อร่อยจนหยุดไม่ได้เลยทีเดียว
เขื่อนบางลาง ตั้งอยู่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ ห่างจากตัวเมืองยะลาไปตามทางหลวงหมายเลข 410 ประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 12 กิโลเมตร เขื่อนบางลางถูกก่อสร้างขึ้นตามโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกในภาคใต้ของประเทศ ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำปัตตานี เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แหล่งผลิตไฟฟ้ายังไม่มีเพียงพอ การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสามารถอำนวยความสะดวกด้านชลประทานให้กับพื้นที่ของจังหวัดได้มากกว่า 3แสน8หมื่นไร่ และสามารถนำน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ยนปีละถึง 200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง นับเป็นผลพลอยได้ที่มีคุณประโยชน์มหาศาล นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยและยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญในภาคใต้ ซึ่งช่วยเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขื่อน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาด้วย
ฤดูกาลของทุเรียนขณะนี้ ที่จังหวัดยะลา กำลังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ยะลา เป็นศูนย์กลางตลาดทุเรียน มีชาวสวนจาก จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้นำทุเรียนมาจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง ที่เดินทางมาจากจังหวัดภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคอีสาน ที่บริเวณตลาดกลางผลไม้บ้านมลายูบางกอก ในเขตเทศบาลนครยะลา วันละหลายพันตัน ทำให้มีเงินสะพัดในการซื้อขายทุเรียนวันละ มากกว่า 100 ล้านบาท
ว่าววาบูแลหรือวาบูลัน หรือเรียกอีกชื่อว่าว่าววงเดือน มีเอกลักษณ์เฉพาะ รูปร่างลักษณะคล้ายพระจันทร์ (ทั้งจันทร์ซีก จันทร์เสี้ยว และจันทร์เต็มดวง) ว่าวชนิดนี้นิยมเล่นกันในหมู่ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เล่นกันเพื่อความสนุกสนาน ความสามัคคีของหมู่คณะและแข่งขัน ในภาพ กลุ่มคนรักว่าวยะลากำลังแกะลวดลาย
ร.ต.ต.อุดม ลักษณะ นายกสมาคมท่องเที่ยวเบตง เปิดเผยว่า เบตงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ที่เบตงแห่งนี้อยุ่กันแบบพหูวัฒนธรรม มีทั้งคนไทย คนจีน และมุสลิม โดยอยู่กับแบบเป็นเพื่อนพี่น้องกันมีอะไรก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมืองเบตงนอกจากจะเป็นเมืองใต้สุดแดนสยาม แต่ยังเป็นเมืองท่องเที่ยว มีสถานท่องเที่ยวกว่า 70 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ อากาศดีของกินอร่อย ที่สำคัญขณะนี้ เบตง เป็นเมืองท่องเที่ยวรอง อันดับ 1 ของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่่มีดีจริงคงไม่ได้อันดับ 1 ซึ่งจุดขายของเบตง คืออากาศดี โดยเฉพาะทะเลหมอกและพันธุ์ไม้เมืองหนาวมีให้ชมกันตลอดทั้งปี รวมทั้งอาหารการกินที่รสชาติดี
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเบตง คือ เป็นอำเภอเดียวของประเทศไทยที่มีป้ายทะเบียนรถในชื่อของอำเภอเบตง ซึ่งบางท่านมาเห็นแล้วคงสงสัยว่า บต.คือจังหวัดอะไร ที่มาที่ไปก็คือความที่เบตง อยู่ห่างไกลกับตัวจังหวัดเป็นอย่างมาก และการเดินทางในสมัยก่อนก็ลำบากเส้นทางขึ้นลงเขาตลอด ดังนั้นทั้งที่ทำการศาลจงัวหัด อัยการจังหวัด และขนส่งจังหวัดจึงได้มาตั้งที่นี่ และในอนาคตถ้าเบตงได้รับการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ต้องมีการดึงหน่วยงานราชการต่างๆอีกมากให้มาตั้งที่ทำการที่นี่ด้วย ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวมาเลย์และชาติต่างๆพากันเดินทางมาท่องเที่ยวที่เบตงกันมาขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงนี้ผลไม้กำลังออก นักท่องเที่ยวต่างพากันเข้ามาเพื่อจะชิมผลไม้ของเบตง โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์พรมมณี ซึ่งรสชาดดี เป็นที่ถูกใจของผู้มาเยือนกันเป็นอย่างมาก
ร.ต.ต.อุดม กล่าวต่อว่า ในอนาคตเบตง จะมีสนามบิน โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างไปแล้ว 57 เปอร์เซนต์ คาดว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2563 สนามบินเบตง ก็จะเปิดทำการการ เมื่อนั้นคงมีนักท่องเที่ยวมุ่งหน้ามาเยือนเบตงกันมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ซึ่งเราในฐานะเจ้าบ้านก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติและการต้อนรับที่ดีของเราด้วย
จังหวัดยะลาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด อีกทั้งเบตง ยังเป็นอำเภอที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบต่ำมากที่สุด เพียงร้อยละ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือแทบไม่มีเกิดขึ้นเลย”ครั้งแรกที่ผมได้ไปเยือนอำเภอเบตง จ.ยะลา มีความประทับใจ หลงรักอำเภอเล็กๆอันสวยงาม แห่งนี้ ใครหลายคนคิดว่าดินแดนแห่งนี้น่ากลัว ผมขอรับรองว่า ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด มาเที่ยวเถอะครับ มาชมบรรยากาศใต้สุดเมืองสยาม ความงามของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา…รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: