ราชบุรี ในวันนี้( 7 พ.ค. 63 ) นายละออ เสร็จกิจ หัวหน้ากลุ่มงานอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ได้นำเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึง และเกษตรตำบลแก้มอ้น ลงพื้นที่ตรวจสอบไร่มันสำปะหลังของนางนรภัทร โอภาสรัตนาพร อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 174/4 หมู่ 3 ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง หลังได้รับรายงานว่าไร่มันสำปะหลัง ถูกแมลงจินูนแดงกัดกินทำลายใบเสียหายจำนวนมาก ส่งผลทำให้ต้นมันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกไว้ และต้องใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 12 เดือน ต้องหยุดชะงักการเจริญเติบโตไประยะหนึ่ง จากการตรวจสอบไร่มันสำปะหลังดังกล่าวพบว่าบริเวณใบนั้นถูกแมลงจินูนกัดกินจนเหลือแต่ก้านกระจายเป็นวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะต้องออกฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในช่วงกลางคืน เนื่องจากแมลงชนิดนี้จะออกมากัดกินใบพืชในช่วงกลางคืน
ซึ่งนางนรภัทร โอภาสรัตนาพร เจ้าของไร่มัน ก็เล่าให้ฟังว่า ปลูกมันสำปะหลังหลายแปลง แต่ที่ถูกแมลงจินูนแดงกัดกินใบมีอยู่ 2 แปลงประมาณ 28 ไร่ กัดกินใบลักษณะแบบปูพรมเป็นแถวยาวเรื่อยไป เหลือแต่ก้านให้เห็นเป็นครั้งแรกที่เคยเจอตั้งแต่ปลูกมันสำปะหลังมานานหลายปี มันมาเยอะมากตอนกลางคืนประมาณทุ่มเศษ ๆ จะบินมากัดกิน จึงใช้ยาฉีดพ่นทำลายตอนกลางคืน พอฉีดไม่นานก็จะพบว่าแมลงเริ่มหล่นตกลงพื้นดินเป็นจำนวนมากและตายไป ในพื้นที่แถบนี้จะปลูกมันสำปะหลังกันเยอะมาก ส่วนแมลงจินูนแดงนอกจากจะกินใบมันสำปะหลังแล้วยังชอบกินใบมะขาม ใบสะเดาด้วย ทำให้ที่ไร่ตอนนี้ที่ถูกแมลงจินูนแดงกัดกินใบส่งผลให้หยุดชะงักการเจริญเติบโต โดยเฉพาะแปลงนี้ใช้เวลาปลูกมาประมาณ 8 เดือนแล้ว เหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้แต่ก็มาถูกแมลงกัดกินใบจนเหลือแต่ก้าน
ทางด้านนายลออ เสร็จกิจ หัวหน้ากลุ่มงานอารักขาพืช สํานักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า วิธีแรกที่แนะนำเกษตรกร คือ เก็บตัวแก่ไปทำอาหาร เพราะแมลงนูนแดงจะมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ทางภาคอีสานนิยมนำไปคั่วแปรรูปทำอาหาร ช่วงนี้เป็นช่วงที่แมลงจินูนแดงขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่ ในท้องจะมีไข่จำนวนมากอร่อยกินได้ แต่ถ้าเยอะเกินปริมาณที่เก็บได้ก็จะแนะนำให้ใช้สารเคมีจำพวกคาบาร์รีล เป็นยาที่ฉีดแล้วถูกตัวตาย และมียาอีกชนิดชื่อ ไซเปอร์เป็นยาน็อกแมลงโดยตรงฉีดพ่นไปแล้วตาย
ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น ทราบว่ามีพื้นที่ที่ถูกแมลงจินูนแดงทำลายไปแล้วประมาณ 80 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 5 ราย ในพื้นที่ อ.จอมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งแรก และครั้งแรกของราชบุรีที่พบว่ามีการระบาด ซึ่งตามปกติทั่วไปจะพบการระบาดจากแมลงจินูนหลวงจะมีลักษณะตัวใหญ่กว่านี้ โดยแมลงจินูนแดงจะอาศัยอยู่ในดินตอนกลางวัน พอตอนกลางคืนจะขึ้นมาหากินใบพืช ผสมพันธุ์ ตัวเต็มวัยประมาณ 1 เดือนจะวางไข่ไปเรื่อย ๆ และตายไป ถึงช่วงหน้าฝนปีหน้าจึงจะขึ้นมาจากดินใหม่เรียกว่าปีหนึ่งมีครั้งเดียว เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจพื้นที่ แปลงไหนถูกทำลายให้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ใกล้เคียงทันที เพื่อลดความเสียหายของพืชไร่
ข่าวน่าสนใจ:
- กองบิน 7 จัดกิจกรรม “ค่ายเยาวชนสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ”
- มือดีจุดเผาป่าลามติดร้านรับซื้อของเก่าเสียหายหนัก
- ตรัง ร้านอาหารผวา!! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน อ้างสั่งอาหารหรู "พระกระโดดกำแพง" หลอกร้านดังเกือบเสียเงินแสน
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: