X

ดีอีเอส ยืนยัน แพลตฟอร์ม ‘ไทยชนะ’ เป็นความลับ ไม่กระทบข้อมูลส่วนบุคคล

กรงเทพฯ – แพลตฟอร์ม ‘ไทยชนะ’ ประสบความสำเร็จ 4 ชม. มีคนเช็กอินกว่า 1 ล้านคน มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 30,000 ร้าน ยืนยันข้อมูลเพื่อป้องกันโรค และเป็นความลับ

วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า วันนี้ เป็นวันแรกที่เปิดให้ใช้แพลตฟอร์ม ‘ไทยชนะ’ ซึ่งเป็นระบบที่ออกตามพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2563 เป็นทางการตามมาตรการผ่อนคลาย มีผู้เข้าลงทะเบียนในระบบนี้แล้ว ณ เวลา 11.30 น. จำนวน 26,736 ร้านค้า มีผู้ใช้งานกับระบบนี้หลังจากผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง ที่ 155,486 คน มีผู้เช็กอินสแกนคิวอาร์โค้ดอยู่ที่ 4,635 คนต่อนาที ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชน

ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. มีร้านค้ามาลงทะเบียนกว่า 30,000 ร้านค้า มีผู้ใช้งานสะสมที่มาเช็กอินและเช็กเอาต์ รวมแล้วประมาณ 1 ล้านคน ในช่วงประมาณ 4 ชั่วโมง หลังเปิดห้างสรรพสินค้า เมื่อ 10.00 น. และมีคนที่ยังอยู่ในห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ประมาณ 5 แสนคนทั่วประเทศ

ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอีเอส อธิบายว่า ระบบไทยชนะ หน้าจอเป็นสีเขียว มี 3 เมนูสำคัญ คือ
การค้นหาร้านค้า ทันทีที่กดเข้าจะเห็นร้านค้าในระบบ ซึ่งมาจากการลงทะเบียนของผู้ประกอบการ โดยมีขั้นตอนสำคัญในการลงทะเบียน คือ

1.ชื่อผู้ติดต่อ ต้องดูให้ถี่ถ้วน
2.บัตรประจำตัวประชาชน ผู้ประกอบการหรือผู้ดำเนินกิจกรรมต้องใส่ตัวเลขให้ครบ 13 หลัก
3.เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อกลับและอีเมล์ ที่จะทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบไทยชนะกับผู้ประกอบการ ระบบจะแจ้งเตือนกลับไปว่าร้านค้าได้ลงทะเบียนแล้วถูกต้อง ผ่านการยืนยันตัวตนของระบบกระทรวงมหาดไทย โดยแจ้งทางอีเมล์เท่านั้น หากพบข้อผิดพลาด ระบบจะแจ้งให้ลงทะเบียนใหม่ หากลงทะเบียนถูกต้องคิวอาร์โค้ดจะใช้งานได้ในทุก ๆ วัน

♦สำหรับประชาชน เมื่อลงทะเบียนแล้ว จะเห็นชื่อกิจกรรมหรือร้านค้าที่ได้รับการผ่อนคลาย เห็นความหนาแน่นเป็นรูปแบบเปอร์เซ็นต์ เห็นโลเคชั่น ความจุสูงสุดว่ามีที่ให้ไปเท่าไหร่

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องตั้งจุดเช็คอินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเปิดกล้องจากโทรศัพท์มือถือ อ่านคิวอาร์โค้ดที่เป็นตารางสี่เหลี่ยม หน้าจอจะขึ้นมาทันทีว่าเช็กอินสำเร็จแล้ว การเช็กอินครั้งแรก เป็นการกรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือแค่ครั้งแรกครั้งเดียว เพื่อให้สามารถติดตามกลับได้ หากไม่เปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์หรือมีการปรับปรุงโทรศัพท์ เพียงเท่านี้ก็สามารถไปใช้บริการได้ ขั้นตอนของการเช็กเอาต์ทำแบบเดียวกันกับการเช็กอินคิวอาร์โค้ดตัวเดียวกัน ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ต้องช่วยประชาสัมพันธ์จุดที่ติดคิวอาร์โค้ดให้ประชาชนทราบด้วย หลังเช็กเอาต์จะมีวัน-เวลาระบุไว้ และสามารถประเมินร้านค้าตามมาตรการ ได้แก่ เรื่องการล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม การทำความสะอาดพื้นผิว การใส่หน้ากากอนามัยในการให้บริการ

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ยืนยันว่า แพลตฟอร์มไทยชนะ (www.ไทยชนะ.com) เป็นเพียงระบบเดียวที่ราชการรับรอง ข้อมูลจะส่งต่อให้กรมควบคุมโรค ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ส่วนระบบอื่น ๆ เป็นเพียงการร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ระบบยังไม่มีการเช็กเอาต์อัตโนมัติ แต่จะเป็นการเคลียร์ระบบในเวลา 24.00 น. ของทุก ๆ วัน ซึ่งยังต้องขอให้ประชาชนช่วยกันเช็กเอาต์ หรือผู้ประกอบการช่วยกันแนะนำให้เช็กเอาท์ เช่นเดียวกับ เช็กอิน รวมทั้งคิวอาร์โค้ดยังนำไปติดที่ไหนก็ได้ รวมถึงติดที่ลานจอดรถ

ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอีเอส กล่าวต่อว่า กิจการทุกประเภทที่ได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรการผ่อนปรน สามารถลงทะเบียนในระบบได้ รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยในห้างสรรพสินค้า ตลาด เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ละเอียดขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการไม่ต้องกังวลในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยมี WiFi ฟรี และเป็นหน้าที่ของร้านค้าที่ต้องหาวิธีในการจดบันทึกว่า มีใครเข้าใช้บริการ ซึ่งข้อดีของการใช้ระบบ คือ จะทราบปริมาณคนที่เข้ามาใช้บริการในจุดนั้น ๆ การติดตามและป้องกันโรคก็จะเป็นความลับเฉพาะตัว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"