ศรีสะเกษ-หมอลำกลอนเป็นศิลปะการแสดงที่เก่าแก่อย่างหนึ่งของภาคอีสานลักษณะเป็นการแสดงพื้นบ้านที่มีหมอลำชายหนึ่งกับหญิงหนึ่งลำคู่กันจึงนิยมเรียกว่า”หมอลำคู่ “ขึ้นเวทีลำสลับกัน โดยมีเครื่องดนตรีประกอบเพียงชิ้นเดียว คือ แคน การลำมีทั้งลำเรื่องนิทาน,สอดแทรกธรรมะ,คติสอนใจ,ความรู้ในเรื่องฮีตประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ฮีตสิบสองคลองสิบสี่,นิทานสอนใจ,อานิสงค์ของบุญกฐิน เป็นต้น
นอกจากนี้ การลำกลอนก็มักจะมีการโต้ตอบซักถามฝ่ายตรงกันข้าม เรียกว่า ลำโจทย์ลำถามปัญหา ซึ่งคู่ลำจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบและมีความรู้ที่ดีสามารถตอบโต้ ยกเหตุผลมาหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้ บางครั้งการลำจะมีการเกี้ยวพาราสี ประกอบจังหวะแคน มีท่าฟ้อนต่างๆ เช่นฟ้อนเกี้ยว ฟ้อนซ้วน ฟ้อนปัดป้อง ฟ้อนสาละวันเป็นต้น บางครั้งก็แทรกเป็นแนว ชิงรักหักสวาท ยาด(แย่ง)ชู้ยาดผัว เรียกว่า ลำชิงชู้ ,แทรกคำสอนที่เรียกว่า ผญา ลงไปด้วย ปัจจุบันหมอลำกลอนนั้นหาดูได้ยากเพราะขาดความนิยมลงไป จึงได้มีการวิวัฒนาการ มาเป็นหมอลำซิ่ง ซึ่งไม่ได้ขับลำเพียงอย่างเดียวมีการผสมผสานเพลงลูกทุ่ง,ลูกทุ่งหมอลำรวมทั้งเพลงสตริง โดยใช้เครื่องดนตรีหลายชนิดในการบรรเลงเช่น กีตาร์,เบส,พิณ,แคน,กลองชุดและอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดและได้รับความนิยมค่อนข้างมากในยุคปัจจุบัน
สำหรับหมอลำกลอนจังหวัดศรีสะเกษ จากการศึกษาข้อมูลและการสัมภาษณ์หมอลำกลอนรุ่นแรกๆ(ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย บางท่านยังมีชีวิตอยู่,บางท่านเสียชีวิตไปแล้ว),สัมภาษณ์ ลูกหลานญาติพี่น้องของท่าน และลูกศิษย์บางคน ความว่า หมอลำกลอนศรีสะเกษ ไม่ทราบจุดกำเนิดที่จัดเจน หมอลำบางคนไปเล่าเรียนการร้องรำจากครูสอนลำในหลายๆที่เช่นที่จังหวัดขอนแก่นหรืออุบลราชธานี เป็นต้น บางคนเมื่อลำจนชำนาญแล้วก็พัฒนามาเขียนกลอนลำเอง รวมทั้งเผยแพร่และมีลูกศิษย์ลูกหาเพิ่มขึ้น หมอลำส่วนใหญ่ก็คือชาวไร่ชาวนา บางคนเป็นหมอลำเพราะชื่นชอบในการร้องลำทำเพลง บางคนก็อยากทำเป็นอาชีพ
ในสมัยนั้นยังไม่มีศูนย์กลาง(สำนักงานหมอลำ)ในการจ้างหมอลำมาแสดงในงานต่างๆอาทิเช่น งานศพ(งันเฮือนดี),งานประจำปี,งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่างๆ-บุญผะเวส,บุญข้าวสาก,บุญออกพรรษาฯลฯ การแสดงหมอลำยุคนั้นยังไม่มีเครื่องเสียง,เวทีอย่างเช่นทุกวัน แสดงกันกลางลานบ้าน ที่เจ้าภาพจัดหา จุดใต้จุดกระบองให้แสงสว่างในการแสดง การจ้างหมอลำเจ้าภาพต้องไปติดต่อหมอลำด้วยตนเอง ตกลงราคาด้วยปากเปล่าไม่มีสัญญาว่าจ้างแบบทุกวันนี้ ค่าจ้างหมอลำรวมหมอแคนอยู่ประมาณ 20-50 บาท จากนั้นนัดวันที่จะไปแสดง หมอลำต้องเดินทางไปเอง ส่วนใหญ่จะเดินเท้ากันไปเองทั้งหมอลำและหมอแคน
ในราวปีพุทธศักราช 2504 หมอลำกลอนศรีสะเกษ ได้ถือกำเนิดขึ้นชัดเจนในรูปแบบบ้านพักหมอลำและสำนักงานหมอลำ ที่บริเวณหน้าปั้มเชลล์(ติดสนามบินเก่า)เยื้องสำนักงานเทศบาลเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน สมัยนั้นเรียกกันว่า “โนนบักม่วง” บ้านพักหมอลำแห่งแรกคือ บ้านพักหมอลำครูใส งอมสงัด ท่านเป็นครูประชาบาลและเป็นผู้มีความชำนาญการเป่าแคนเรียกกันว่าหมอแคนใส โดยมีหมอลำกลอนรวมทั้งหมอแคนจากที่ต่างๆทั้งในศรีสะเกษ,อุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง เดินทางมาพักอยู่เป็นระยะผลัดกันไปมาอยู่เนืองๆ บางคนก็มาพักประจำอยู่ที่นี่เพื่อฝึกเรียนลำจนลำเป็นแล้ว ถึงจะรับงานได้ ส่วนคนที่เก่งหรือชำนาญแล้วจะไม่มาพักอยู่ประจำ จะมากันค่อนข้างมากโดยเฉพาะช่วงออกพรรษาจนถึงหน้าเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นหน้าเทศกาล ซึ่งจะมีเจ้าภาพมาว่าจ้างหมอลำไปแสดงในบุญประเพณีต่างๆ จากนั้นพอหมดหน้าเทศกาลหมอลำหมอแคนทั้งหลาย ก็ต้องกลับไปทำนา วนเวียนอยู่เช่นนี้
ต่อมาก็มีบ้านพักหมอลำ,สำนักงานหมอลำเพิ่มขึ้นอีกในปีไล่เลี่ยกัน ส่วนใหญ่มาเช่าบ้านหรือเช่าที่ดินแล้วสร้างโรงเรือนเอง เรียงตามลำดับจากบ้านพักหมอลำพักพ่อครูใส งอมสงัด,บ้านพักหมอลำพ่อครูสุนทร สุวรรณ,สำนักงานหมอลำประพา ตาชู ซึ่งคุณพ่อประพา ตาชู ถือได้ว่าท่านเป็นนายกสมาคมหมอลำคนแรกของจังหวัดศรีสะเกษ,สำนักงานหมอลำแม่บุญโฮม จนกระทั่งในราวช่วงพุทธศักราช 2510-2513 มีการขยายเขตตัวเมืองศรีสะเกษ เจ้าของที่ดินเดิมบางส่วนสร้างบ้าน,อาคารหลังใหม่ บางส่วนมีการจำหน่ายที่ดินต่อกันไปเป็นทอดทอด ทำให้บ้านพักหมอลำ,สำนักงานหมอลำในขณะนั้น บางส่วนต้องยุบไป และอีกส่วนหนึ่ง ได้ย้ายมารวมตัวกันสร้างเป็นชุมชนหมอลำขึ้นอย่างคึกคักขึ้น ณ บริเวณชุมชนสะพานขาว ม.11 ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
หมอลำกลอนชุมชนสะพาน สำนักแรกคือบ้านพักหมอลำส.นครไทย โดยพ่อครูแสง ทรงกลด ปีพุทธศักราช 2512 ถัดมาก็คือ บ้านพักหมอลำบุญธรรม,สำนักงานหมอลำแม่บุญโฮม(ย้ายมาจากชุมชน โนนบักม่วง),สำนักงานหมอลำบุญมา สมหวัง(ข้าวขอบ),สำนักงานหมอลำบุญยิ่ง คำลอย,สำนักงานหมอลำโพธิ์ทอง มีศิลป์, สำนักงานหมอลำ โกศล วรงค์
สำนักงานหมอลำ,บ้านพักหมอลำ ที่ชุมชนสะพานขาวนี้อยู่ในยุคเฟื่องฟูมากราวปี พ.ศ. 2515-2529 มีการให้บริการแสดงหมอลำแก่เจ้าภาพทั้งลำกลอนหรือที่เรียกว่าลำคู่,หรือลำเป็นแบบหมู่คณะ เป็นเรื่องนิยาย,นิทานอีสานพื้นบ้าน เช่น เรื่องขูลูนางอั้ว,ท้าวก่ำกาดำ,สังข์สินไชย เป็นต้น เรียกว่า หมอลำหมู่หรือลำเรื่องต่อกลอน
นอกจากนี้ก็ยังมีคณะหมอลำเพลิน,ลำเวียงอีก หลังจากปีพ.ศ.2529 เป็นต้นมาเป็นยุคตกต่ำของหมอลำกลอนศรีสะเกษ(รวมทั้งบางจังหวัด) ส่วนหมอลำแบบเป็นคณะบางส่วนก็ยุบวงไป เว้นแต่คณะใหญ่ๆที่มีชื่อเสียงเช่น ประถมบันเทิงศิลป์,รัตนศิลป์อินตาไทยราษฏร์,หงส์ฟ้ามหาราช,สาวน้อยเพชรบ้านแพง,คณะนกยูงทอง ส่วนในศรีสะเกษที่รู้จักกันมากก็คือคณะแดนดอกบัว ก็ยังพอยืนหยัดอยู่ได้ และในช่วงนี้เองได้กำเนิดคณะหมอลำแนวประยุกต์ ผสมผสานทั้งหมอลำ,เพลงลูกทุ่ง,เวทีเครื่องเสียงอลังการ มีการลงทุนสูงเกี่ยวข้องกับเรื่องของธุรกิจ นายทุนสนับสนุน มีการเผยแพร่ทางวิทยุ-โทรทัศน์ และจัดจำหน่ายในรูปแบบเทปาสเซ็ทและม้วนวีดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะเพชรพิณทอง ของนพดล ดวงพร และคณะเสียงอีสาน ของ นกน้อย อุไรพร(ซึ่งเป็นคนศรีสะเกษ) ส่วนหมอลำกลอนนั้น ราวหลังปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา หมอลำกลอนบางส่วนโดยเฉพาะรุ่นหลังๆ ได้ปรับตัวและผันตัวเองมาเป็นหมอลำซิ่ง ตามยุคสมัยนิยม จนกระทั่งปัจจุบัน
มงคล สมหวัง : รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: