จังหวัดน่าน โซเชียลแทบแตก หลังหนุ่มโพสต์ชวนซื้อไอ้เคี่ยม บรรยายสรรพคุณน้องน่ารัก หลายคนเห็นแย้งหลุดลงน้ำน่านคงสนุกพิลึก
ข่าววันนี้ น่าน วันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีเฟซบุ๊กหนุ่มเมืองน่าน โพสต์ขายลูกไอ้เคี่ยมชวนคนเลี้ยง ข้อความว่า “มีใครอยากได้น้อง ไปเลี้ยงดูเล่นบ้างครับ ผมจะได้สั่งมาทีเดียว มารับที่บ้านผมได้ 1,200 คนละตัว 2 ตัว เลี้ยงแต่เล็กๆ น้องเชื่อง น่ารัก (ลูกจระเข้ทุกตัว มาจากฟาร์มถูกต้องตามกฎหมาย ) ใครจะเอาใบเซอร์ ด้วยก็ได้ เอาไปเลี้ยงแล้ว เลี้ยงไม่ไหว เอามาคืน…ไม่มีดราม่า เลี้ยงไว้ดูเล่นสัตว์น่ารัก”
ทั้งนี้หลายคนแสดงความเป็นห่วงและความกังวลหากเกิดอุบัติเหตุจนหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดความโกลาหลวุ่นวายโดยหากผู้สนใจจะเลี้ยงจริงๆ ควรศึกษาข้อมูล และทำการขออนุญาตเลี้ยงให้ถูกต้อง เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ต้องขออนุญาตทำการเลี้ยง
ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมประมงระบุกฎระเบียบในการเลี้ยงจระเข้ไว้ว่า ความสำคัญของการสงวนพันธุ์จระเข้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 แล้วโดยขณะนั้นมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำของกรมประมง จะมีข้อความครอบคลุมไปถึงจระเข้ด้วยซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคุ้มครองนี้หลายหน
ท้ายสุดในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสัตว์ป่าคุ้มครอง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 พร้อมกับยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า ซึ่งในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นี้ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขงทั้ง 3 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย
กล่าวคือกฎหมายจะกำหนดห้ามล่าห้ามค้าห้ามครอบครองห้ามเพาะพันธุ์ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้ทันที แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่จะอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงและค้าขายสัตว์ป่าคุ้มครองได้หากสัตว์ป่าชนิดนั้นสามารถทำการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้
โดยการออกประกาศกฎหมายกระทรวงตามมาตรา 17 และมาตรา 18 ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535กำหนดรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งจะกำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยและจระเข้น้ำเค็มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้
และเมื่อมีการประกาศดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงและการค้าจระเข้ และผลิตภัณฑ์จระเข้ของไทย ก็สามารถที่จะครอบครองเพาะพันธุ์ และค้าจระเข้ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงได้ถูกต้องตามกฎหมาย ในเรื่องของการอนุรักษ์และคุ้มครอง องค์กรระดับนานาชาติคือสหประชาชาติ Unites Nations หรือ UN มีหน่วยงานด้านอนุรักษ์ที่สำคัญคือ
สหภาพระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservatian of Natural Resources หรือ IUCN) องค์กรนี้จะมีหน่วยงานบริหารภายในที่ช่วยกันรับผิดชอบงานต่าง ๆได้แก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Species Survival Commission หรือ SSC)
และคณะกรรมการทำงานด้านอนุรักษ์สัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือเรียกกันว่า ไซเตส (Convention on International Trade in Endangerd Species of wild Fauna and Flora หรือ CITES)
ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ CITES นี้ ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้ง 3 ชนิดที่พบในประเทศไทยเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 1
ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาดยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อนุสัญญานี้ได้กำหนดไว้ว่าหากเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 1 และสามารถทำการเพาะพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 2 ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 11
คือ อนุญาตให้ค้าระหว่างประเทศได้ ภายใต้การควบคุม ของ CITES ในส่วนของ SSC จะมีการแบ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแยกย่อยออกตามชนิดพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืช ทำหน้าที่ให้ข้อมูลทางวิชาการและสรุปต่าง ๆ แก่ ไซเตสเพื่อที่ไซเตสจะได้นำไปใช้ในการตัดสินเกี่ยวกับการควบคุม
หรือสนับสนุนการค้าสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ ใน SSC ก็มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจระเข้อยู่ด้วย เรียกว่า Crocodile Specialist Group หรือ CSGซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์เพาะเลี้ยงจระเข้ทั่วโลกกว่า 200 คนมีคณะกรรมการบริหารจำนวน 24 คน ทำหน้าที่วางแผน วางนโยบายการอนุรักษ์จระเข้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
โดยการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่มีจระเข้อยู่ ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติโดยข้อปฏิบัติ ต้องปฏิบัติตามนโยบายและกฎเกณฑ์ของ IUCN นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นตัวแทนของประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของไซเตส
โดยจะมีหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ กรมประมง ทำหน้าที่รับผิดชอบทางด้านนี้ ประสานกับไซเตส เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของสัตว์ป่าคุ้มครองในเมืองไทย กล่าวเฉพาะจระเข้ หน่วยงานทั้งสองจะรายงานให้ไซเตสทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานภาพของจระเข้ในประเทศไทย
โดยกรมป่าไม้จะรายงานในส่วนของจระเข้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนกรมประมงจะรายงานในเรื่องการเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย โดยการประสานกับผู้เลี้ยงจระเข้ที่ประสงค์จะสั่งจระเข้ออกขายในตลาดต่างประเทศ เพื่อประสานงานกับทางไซเตส ในการที่จะออกใบรับรองว่าการส่งออกนั้นเป็นการถูกต้องตามกฎหมายสากล
ในส่วนของผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายฟาร์มด้วยกัน มีทั้งฟาร์มขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ก็ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งองค์กรขึ้น เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงจระเข้ ทำหน้าที่ประสานงานกับกรมป่าไม้ กรมประมง รวมทั้งไซเตส
องค์กรดังกล่าวมีชื่อว่า สมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย(Crocodile Management Association of Thailand หรือ CMAT) จนถึงปัจจุบัน CMAT ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไซเตสได้จดทะเบียนรับรองให้ฟาร์มจระเข้ในประเทศไทยจำนวน 5 ฟาร์ม สามารถส่งออกหนังดิบ หนังฟอก และผลิตภัณฑ์จากจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การจดทะเบียนรับรองนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2535 ฟาร์มจระเข้ทั้ง 5 ฟาร์ม
ได้แก่ บริษัทศรีราชาฟาร์มจำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี บริษัทฟาร์มจระเข้สวนสัตว์รีสอร์ทชลบุรีจำกัด หรือเรียกกันทั่วไปว่าฟาร์มจระเข้หนองใหญ่ ตั้งอยู่ที่จ.ชลบุรี บริษัทฟาร์มจระเข้พัทยาจำกัด ตั้งอยู่ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ฟาร์มจระเข้วสันต์ ตั้งอยู่ที่ จ.ชัยนาท ฟาร์มจระเขสามพรานจำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.นครปฐม
นอกจากฟาร์มทั้ง 5 แล้วก่อนหน้าการก่อตั้งไซเตส ฟาร์มสมุทรปราการ ก็เป็นอีกฟาร์มหนึ่งที่ได้ใบรับรองจากไซเตส สิ่งสำคัญที่สุดที่ไซเตสจะอนุญาตให้ 6 ฟาร์มดังกล่าวส่งจระเข้ออกขายในตลาดต่างประเทศได้ ก็เฉพาะจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบว่า จระเข้มาจากการเพาะเลี้ยงหรือไม่นั้นจะพิสูจน์ได้จากชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ที่ฝังในตัวจระเข้ มีชื่อเรียกว่า “ไมโครชิพ”
ไมโครชิพ (Microchip) คือชิ้นส่วนหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เป็นแท่งกลมขนาดเท่าแท่งดินสอดำ มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ1.5 มิลลิเมตร ไมโครชิพจะมีอุปกรณ์ที่สำคัญ 2 ส่วนคือ แผงคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมาก ซึ่งมีตัวเลขบรรจุอยู่
พร้อมกับมีขดลวดรับคลื่นวิทยุ เพื่อแปลงคลื่นวิทยุเป็นพลังงาน อุปกรณ์ 2 ส่วนนี้จะบรรจุอยู่ในแคปซูลแก้ว ที่ไม่ทำปฏิกริยากับร่างกายของจระเข้ ไมโครชิพจะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะบอกว่าจระเข้แต่ละตัวมีประวัติความเป็นมาอย่างไร, ฟาร์มใด, ประเทศใดเป็นเจ้าของ
การฝังไมโครชิพในตัวจระเข้ ใช้เข็มและกระบอกฉีดยาพิเศษฉีดฝังบริเวณกล้ามเนื้อโคนหางด้านซ้าย ห่างจากเท้าหลังประมาณ 2-3 นิ้ว การฝังในบริเวณนี้ก็เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ ไมโครชิพนี้จะอยู่ติดตัวกับจระเข้ตลอดชีวิต เมื่อต้องการจะอ่านข้อมูลในไมโครชิพ
ก็จะต้องใช้เครื่องอ่าน Scanner จ่อตรงตำแหน่งที่ฝังไมโครชิพไว้ เครื่องอ่านจะส่งคลื่นวิทยุออกไปกระทบไทโครชิพ ขดลวดรับคลื่นวิทยุไมโครชิพ จะแปลงคลื่นวิทยุเป็นพลังงาน ทำการอ่านหมายเลขบนแผงคอมพิวเตอร์ แล้วส่งสะท้อนกลับไปยังเครื่องอ่านปรากฏเป็นหมายเลขข้อมูลขนจอของเครื่องอ่าน
ขั้นตอนในการดำเนินการฝังไมโครชิพ จะดำเนินการขึ้นได้หลังจากฟาร์มจระเข้แต่ละแห่งสามารถเพาะลูกจระเข้ได้แล้ว ทางฟาร์มจะแจ้งไปที่ CMAT และกรมประมง เพื่อให้ CMAT และเจ้าหน้าที่กรมประมงตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะฝังไมโครชิพ
จากนั้นทางกรมประมงและ CMAT ก็จะประสานงานกับทางไซเตสต่อไป จะเห็นได้ว่า CMAT เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการดำเนินกิจการช่วยเหลือ ผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ ฉะนั้นผู้ที่กำลังจะตั้งฟาร์มจระเข้ จึงน่าที่จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ CMAT บ้างพอสมควร เพราะจะเป็นช่องทางสำคัญเบื้องต้นในการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวางแผนในการเพาะเลี้ยงจระเข้
สำนักงานของ CMAT ตั้งอยู่ที่ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10903 โดยทาง CMAT มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรจระเข้ในประเทศไทย ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ส่งเสริมสนับสนุนงานศึกษาค้นคว้าวิจัย
เพื่อขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงจระเข้ สำหรับการอนุรักษ์และการอุตสาหกรรม ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการควบคุมอุตสาหกรรมจระเข้ให้เป็นไปตามระบบการจัดการจระเข้ตามมาตรฐานสากล เป็นศูนย์รวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับจระเข้ในประเทศไทยทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: