ปทุมธานี โชเฟอร์รถเทรลเลอร์ขนซากเครื่องบินร้อง “ปวีณา” ถูกกล่าวหาประมาททำคนตาย ทั้งที่ทำตามคำสั่งนายจ้างทำไมต้องมารับกรรมคนเดียว!! ขณะที่เด็กขนซากเครื่องบินวัย 15 ปี แฉนายจ้างใช้แรงงานเด็กเสี่ยงอันตราย ออกคำสั่งทุกอย่าง ขอเป็นพยานเรียกร้องความเป็นธรรมให้เพื่อนร่วมงานที่ตายและบาดเจ็บจากการถูกไฟฟ้าดูดขณะทำงาน
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 63 นางแตง อายุ 40 ปี พร้อมนางต่าย อายุ 33 ปี และนายกรณ์ อายุ 16 ปี (ทั้งหมดนามสมมุติ) เข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ขอความเป็นธรรมกรณีนายจ้างไม่รับผิดชอบหลังไปทำงานขนย้ายซากเครื่องบินแล้วเกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าดูดเป็นเหตุให้นายเก่ง อายุ 20 ปี ลูกชายของนางแตงเสียชีวิต และนายกรณ์ได้รับบาดเจ็บ โดยการทำงานเป็นไปตามคำสั่งของนายจ้าง เหตุเกิดบนถนนทางเข้าลานเก็บซากเครื่องบินในอ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ช่วงเช้าวันที่ 2 พ.ค.63 ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 3 ราย หลังเกิดเหตุนายจ้างไม่มาร่วมงานศพแม้แต่วันเดียวให้เพียงแต่เลขามามอบเงินจำนวนเพียง 30,000 บาทเท่านั้น นอกนั้นยังไม่แสดงถึงความรับผิดชอบแต่อย่างใด
ข่าวน่าสนใจ:
โดยด้านนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ได้ประสาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ช่วยตรวจสอบให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย โดยอธิบดีอภิญญาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชำนาญการรับเรื่องในการเรียกร้องค่าแรงที่นายจ้างยังจ่ายไม่ครบ และให้ประกันสังคมรับเรื่องเพื่อจะได้เรียกนายจ้างมาขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และกรณีจ้างแรงงานเด็กทำงานที่มีความเสี่ยงอันตรายกับชีวิต ซึ่งอธิบดีอภิญญาได้เอาผิดนายจ้างตามกฎหมายกรณีใช้แรงงานเด็ก พร้อมกันนี้นางปวีณา ได้ประสาน พล.ต.ต.สุกฤษฎิ์ บุญทรง ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์ และพ.ต.อ.อิทธิ ชำนาญหมอ ผกก.สภ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เพื่อให้จัดสอบสหวิชาชีพนายกรณ์ อายุ 16 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว และให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวผู้เสียชีวิต
ความคืบหน้า ล่าาสุดวันอาทิตย์ที่ 31 พ.ค. 63 ที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี นายบอล อายุ 36 ปี กับนางเบญ อายุ 32 ปี (ทั้งสองนามสมมุติ) สองสามีภรรยาอาชีพขับรถเทรลเลอร์ และนายติ่ง (นามสมมุติ) อายุ 15 ปี เด็กขนซากเครื่องบิน เข้าร้องขอความเป็นธรรมต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ โดย นายบอล เล่าว่า ตนเป็นคนขับรถเทรลเลอร์ที่ขนซากเครื่องบินคันที่เกิดเหตุ ขณะนั้นมีรถที่ขนซากเครื่องบินทั้งหมด 3 คัน ขับตามกันไป คันที่ 1 เป็นรถเทรลเลอร์ คันที่ 2 เป็นรถ 12 ล้อ และคันที่ 3 ที่ตนเองขับเป็นรถเทรลเลอร์ เมื่อไปถึงทางเข้าลานเก็บซากเครื่องบิน มีสายไฟพาดผ่านอยู่ด้านหน้า รถทั้ง 3 คันจึงหยุดจอดไม่วิ่งฝ่าเข้าไป ขณะที่นายจ้างซึ่งขับมาตามมาด้วยตลอดทางเห็นเหตุการณ์ได้ใช้วิทยุสื่อสารสั่งการให้เด็ก 5 คน ที่ทำหน้าที่ขนซากซึ่งนั่งมาด้วยกับรถทั้ง 3 คัน โดยคนตายและคนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั่งมากับรถคันที่ 1 ลงมาช่วยกันหาอะไรมาเขี่ยค้ำยันสายไฟเพื่อให้รถผ่านไป
นายบอล (คนขับรถคันที่ 3) กล่าวต่อว่า นายจ้างเป็นคนดูทาง ดูระยะห่างของสายไฟให้และสั่งการให้คนขับแต่ละคันขับเข้าไปในลานจอด ซึ่งรถเทรลเลอร์คันแรกขับเข้าไปได้ไม่มีปัญหา ส่วนรถคันที่ 2 รถ 12 ล้อ นายจ้างได้สั่งให้เด็กขนซากเครื่องบินช่วยกันใช้ไม่ค้ำยันดันสายไฟขึ้นจนรถสามารถขับเข้าไปได้ พอถึงรถคันที่ 3 ที่ตนขับ นายจ้างได้สั่งให้เด็กขนซากเครื่องบิน 5 คน ที่นั่งมากับรถแต่ละคันช่วยกันใช้ไม้ค้ำยันสายไฟขึ้นไป และนายจ้างได้ดูระยะห่างสายไฟพร้อมสั่งให้ตนค่อยๆ ขับรถเดินหน้าเข้าไป จนเกิดเหตุไม่คาดคิดเพราะไฟฟ้าช็อตเด็ก ๆ ที่ช่วยกันใช้ไม้ค้ำสายไฟทั้ง 5 คน บางคนถูกไฟดูดติดอยู่บนรถ บางคนกระเด็นตกลงมาที่พื้นถนนได้รับบาดเจ็บกันทั้ง 5 คน ซึ่งต่อมานายเก่ง อายุ 20 ปี ลูกชายของนางแตง ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสก็เสียชีวิตลง
นายบอล กล่าวอีกว่า วันที่ 29 พ.ค. 63 พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพร้อมสอบสหวิชาชีพนายกรณ์ อายุ 17 ปี และนายติ่ง อายุ 15 ปี เด็กขนซากเครื่องบินที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว ซึ่งตนเองก็ได้เดินทางไปด้วย โดยทั้ง 2 คน ก็ให้การชัดเจนว่านายจ้างเป็นคนสั่งการทุกอย่าง แต่ทางพนักงานสอบสวนก็ยังแจ้งกับตนอีกว่าจะต้องให้ตนไปสอบปากคำและรับทราบข้อกล่าวหา ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บสาหัส และตนก็ไม่ได้ขับรถฝ่าเข้าลานจอดหรือทำคนตายที่ไหน ทั้งหมดนายจ้างเป็นคนสั่งการ และเป็นคนดูทางให้ ตนไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะตัดสินใจเองได้เพราะนายจ้างเป็นหัวหน้า เหตุนี้เราจึงจำต้องเชื่อฟังและทำตาม ทำไมตนต้องมารับกรรมถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับคนที่ไม่มีทางสู้ แต่ทำไมคนที่เป็นนายจ้างไม่ถูกดำเนินคดีด้วย ทั้ง ๆ ที่เป็นคนสั่งการ ตนเป็นลูกจ้างต้องรับคำสั่งอย่างเดียว ตนทำงานกับนายจ้างมาร่วม 4 เดือน รู้ว่านายจ้างเป็นคนมีชื่อเสียงรู้จักคนใหญ่คนโต เวลาให้ขับรถขนซากเครื่องบินไปที่ไหนตลอดเส้นทางจะไม่เคยถูกตำรวจเรียกตรวจเลยสั่งครั้ง แม้กระทั่งวันเกิดเหตุวิ่งในช่วงเวลาเคอร์ฟิวจากจังหวัดชลบุรีไป อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่เรียกตรวจเลยตลอดเส้นทาง แล้วคนจนๆ อย่างตนจึงต้องมารับกรรม ขอมูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเรียกร้องให้ความเป็นธรรมด้วย
ขณะเดียวกัน นายติ่ง (นามสมมุติ) อายุ 15 ปี เด็กขนซากเครื่องบินที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำและสอบสหวิชาชีพแล้ว ซึ่งพร้อมจะเป็นพยานให้กับเพื่อนร่วมงานที่บาดเจ็บและเสียชีวิตเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม กล่าวว่า ตอนที่ไปถึงหน้าทางเข้าลานจอดซากเครื่องบินซึ่งมีสายไฟฟ้าพาดผ่าน รถขนซากทั้ง 3 คน ได้หยุดจอดอยู่หน้าทางเข้า โดยมีคนดูแลลานจอดออกมาบอกว่าก่อนหน้านี้ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ไฟฟ้ามาเคลื่อนย้ายสายไฟแล้วให้รอเจ้าหน้าที่มาก่อนอย่าพึ่งเข้ามานำรถ แต่นายจ้างก็บอกว่ายังไงก็ต้องให้รถเข้าไปให้ได้ พร้อมสั่งการทางวิทยุสื่อสารให้พวกตน 5 คน ปีนขึ้นไปบนรถหาอุปกรณ์เขี่ยสายไฟฟ้าและค้ำยันเพื่อให้รถผ่านไปให้ได้ และนายจ้างยังรถมาจากรถคอยดูทางดูสายไฟให้และยืนยันว่าสายไฟพ้นแล้วให้ขับเข้าไปได้จนกระทั่งมาเกิดเหตุ
นายติ่ง เล่าอีกว่า “ตนมาทำงานอยู่กับนายจ้างได้ปีเศษ โดยทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปีเศษจนกระทั่งมาถึงตอนเกิดเหตุ ที่ผ่านมาใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่ออฟฟิศในคลังสินค้า 3 ดอนเมือง เพื่อนร่วมงานก็จะเป็นเด็กเยาวชนหรือหนุ่มๆ เพราะต้องทำงานหนัก ทำทุกอย่างที่เจ้านายใช้ รื้อซากเครื่องบิน ขนซากเครื่องบินไปตามที่ต่างๆ ต้องเสี่ยงอันตรายตลอด บางครั้งนายจ้างจะให้ใช้แม่แรงยกเครื่องบินเพื่อบรรทุกขึ้นรถเทรลเลอร์ซึ่งต้องใช้คนประมาณ 4 คน ใช้แม่แรงพร้อมๆ กัน แทนที่จะจ้างรถเครนมายก หากแม่แรงเกิดขัดข้องหรือทั้ง 4 คน เกิดมีใครผิดพลาดซากเครื่องบินอาจตกมาทับเสียชีวิตหรือเจ็บก็ได้ และงานก็จะไม่เป็นเวลา บางวันทำตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตี 1 ตี 2 บางวันกลางดึกนายจ้างก็ปลุกเรียกมาทำงาน ช่วงที่มีงานจะลาหยุดลาป่วยไม่ได้เลยต้องอดทนทำงานจนเสร็จ ส่วนค่าแรงก็ไม่แน่นอนทั้งที่เคยตกลงกันวันละ 500 บาท แต่พอถึงเวลาจริงๆ บางวันก็ได้ 100-200 บาท ที่ตนยังทนทำอยู่เพราะหวังจะได้เงินค่าแรงจากนายจ้างให้ครบ เพราะเวลาเงินเดือนออกเขาจะไม่จ่ายครบในทีเดียว เลยต้องอดทนทำงานเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดเรื่องขึ้น และที่ผ่านมาตนก็ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ อยากจะเรียนหนังสือเหมือเด็กคนอื่นบ้าง”
หลังรับเรื่องวันที่ 31 พ.ค. 63 นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ได้ประสาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยอธิบดีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบในเรื่องการใช้แรงงานเด็กที่เสี่ยงอันตรายและผิดกฎหมายแรงงาน และเรียกร้องค่าแรงที่นายจ้างยังจ่ายไม่ครบ พร้อมให้ประกันสังคมเรียกนายจ้างมาขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน โดยในวันที่ 1 เมษ. 63 จะให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิปวีณาฯ พานายติ่ง อายุ 15 ปี และ ผู้ปกครอง ไปพบเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน สำหรับทางด้านคดี นางปวีณา จะได้ประสาน พล.ต.ท.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ช่วยเข้ามาให้ความเป็นธรรมตรวจสอบค้นหาความจริงด้านคดี โดย นางปวีณา จะติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดต่อไป.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: