X

อำเภอเถินลำปางสืบสานประเพณีเก่าแก่ล้านนาตานก๋วยสลาก

ลำปางสืบสาน”ตานก๋วยสลาก”ประเพณีเก่าแก่ชาวล้านนา

ประเพณีตานก๋วยสลาก” “ตานสลาก” “กิ๋นข้าวสลาก” “กิ๋น ก๋วยสลาก หรือกิ๋นสลาก” หรือภาษากลางเรียกว่า”สลากภัต” ล้วนแต่เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกัน เป็นประเพณี”ตานสลาก” มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างขาดมิได้ มีกฎเกณฑ์ว่าวันนี้ (วันที่กิ๋นข้าวสลาก) บุคคลที่นับถือศาสนาพุทธ จะต้องถือศีล ทำบุญ ทำทาน ถวายอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ผอ.ประหยัด จุมปา ประสภาวัฒนธรรมอำเภอเถิน และกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปางกล่าวว่า วันตานสลากถูกกำหนดวันเวลาโดยคณะกรรมการวัดนั้นๆ ผู้จะถวายสลากภัตจะนำก๋วยสลาก (เครื่องสังฆทาน) ดอกไม้ ธูปเทียน พร้อมก้านตานสลากหรือเส้นสลาก (กระดาษที่เขียนชื่อ-นามสกุลผู้ถวายทาน) ซึ่งยังนิยมใช้ใบตาลมาทำเส้นสลากแล้วนำวางไว้ ณ สถานที่ในบริเวณวัดจัดไว้เพื่อทำพิธีทางศาสนา ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ – นักเทศน์จะนำเรื่องชาดกมาเทศน์ ที่มีความสอดคล้อง กับนิยายของบรรพบุรุษทั้งหลาย นำมาเทศน์สู่กันฟัง โดยทางวัดจะจัดศาลาโรงธรรมไว้สำหรับชาวพุทธ ที่ไปร่วมทำบุญ ซึ่งเป็นสถานที่ฟังธรรม อธิบายธรรมะ เกี่ยวกับการแนะนำพร่ำสอนกุลบุตรลูกหลาน

ด้านนางเสาวณี เถินบุรินทร์ วัย 65 ปี ชาวตำบลล้อมแรด อ.เถินเปิดเผยว่า “ก๋วยสลาก (ตะกร้า)” ที่จะบรรจุใส่อาหารคาว-หวาน ขนมไทย และของใช้ต่างๆรวมไปถึงผลไม้สุก เช่นกล้วย ลำไย สมโอ ส้มเกลี้ยง จัดทำเป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับญาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หากครอบครัวไหนมีญาติที่ล่วงลับไปแล้วหลายราย ก็จะจัดก๋วยสลากเท่ากับจำนวน บางบ้านมีมากถึง 10 รายเลยทีเดียว สำหรับการถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร เจ้าแม่ธรณี ผีปู่ย่า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่นับถือ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงแสนรักหรือสัตว์ใช้งานที่เคยผูกพันหรือมีบุญคุณต่อกัน เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใคร ก็สามารถถวายทานเอาไว้ให้ในภายหน้าก็ได้อีกด้วย นางเสาวณีเปิดเผยอีกว่าก่อนวันไปทำบุญภาษาถิ่นล้านนาเรียกว่าวันดาญาติผู้ใหญ่รวมถึงพี่น้องพ้องเพื่อนก็จะมาช่วยกันปรุงอาหารคาวหวาน ขนมต่างๆ ช่วยกันห่อ ช่วยกันนึ่ง สุกได้ที่จัดลงใส่ในก๋วยสลาก ส่วนมากนิยมขนมไทยถูกรังสรรค์ปรุงแป้งพันห่อด้วยใบตอง อาทิ ขนมเทียน ขนมไส้มะพร้าว ขนมแตงไทย ขนมฟักทอง และอื่นๆ คาดว่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ น่าจะคุ้นชินกับรสชาติขนมไทยนิยม ในขณะเดียวกัน ความสุขมักจะเกิดขึ้นทุกครั้งเพราะครอบครัวได้มาเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา และช่วยกันทำบุญให้กับบรรพบุรุษเครือญาติเดียวกัน

พระครูสุธรรมจินดากร เจ้าอาวาสวัดบ้านเหล่าน้อย อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง กล่าวว่า การถวายสลากภัต หรือก๋วยตานสลากแด่พระสงฆ์ จะต้องทำพิธีก่อนถึงเวลาเพล หรือก่อนเวลา 11.00 น. กระดาษชื่อสกุล(ก้านตาลสลาก หรือ เส้นสลาก) ถูกเขียนเป็นคำอุทิศถวายให้ผู้ล่วงลับ พระสงฆ์จะนำก้านตาลสลากไปอ่าน โดยจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับเป็นอันเสร็จพิธี
อย่างไรก็ตาม ประเพณีนี้ปฏิบัติกันมายาวนานตลอดมาจวบจนปัจจุบัน ตานก๋วยสลากเป็นประเพณีหนึ่งในพุทธศาสนาชาวล้านนา จัดในช่วงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ราวเดือนกันยายน – ตุลาคม) พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อม และเป็นเวลาที่ชาวบ้านมีเวลาพักผ่อนช่วงสั้นๆ หลังฤดูทำนาเสร็จสิ้น และยังเป็นช่วงที่ผลไม้กำลังสุก เป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญแด่พระสงฆ์ ถือได้ว่าเป็นประเพณีอันดีงามของคนไทยล้านนาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ประทีป นันทะผาบ

ประทีป นันทะผาบ

นักข่าวประจังหวัดลำปาง ทำงานด้านการข่าวมานาน 10ปี ผู้ดูแลจังหวัดลำปาง