แพทย์ ม.อ.คิดค้นชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม พร้อมส่งมอบให้กับรพ.ตรัง ช่วยเหลือผู้ป่วย วันนี้ 4 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุมพุทธรักษา โรงพยาบาลตรัง ต้อนรับทีมแพทย์ พยาบาล จากคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.
ซึ่งนำทีมโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยทีมงานในโครงการ THAI Colostomy Bags ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม “จากคนไทย สู่คนไทย” ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อมอบชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ที่คิดค้นขึ้นโดย นพ.วรวิทย์ และได้รับความร่วมมือจากทีมสหสาขาต่างๆรวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน อาทิเช่น
สถาบันพลาสติก เป็นผู้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับนักวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์ถุงทวารเทียมร่วมกับบริษัทภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการผลิต บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ผู้คิดค้นและผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ นำไปผลิตเป็นถุง และอุปกรณ์สวมยึด บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ผลิตถุง (Bag) ด้วยกระบวนการเป่าฟิล์มแบบหลายชั้น (Multilayers Film) พร้อมซีลและตัดเป็นรูปร่าง บริษัท เอส.เค.โพลีเมอร์ จำกัด ผลิตแผ่นยางพาราสูตรพิเศษเพื่อเป็นตัวกลางยึดแป้น (Pad) ให้ติดกับหน้าท้องผู้ป่วย บริษัท นีโอพลาสโตเมอร์ ผลิตอุปกรณ์สวมยึด (Joint) จากพลาสติก และแป้น (Pad) จากซิลิโคนเพื่อใช้ในการจับยึด บริษัท โนวาเมดิค จำกัด รวบรวมส่วนประกอบทั้งหมด ทำการประกอบ พร้อมบรรจุ (Packing) และจัดจำหน่าย โดยมีบริษัท โนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย
ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานดังกล่าว จนสามารถผลิตชุดอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่ง นพ.วรวิทย์กล่าวว่า สถานการณ์โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงที่มาของการจัดทำอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมในครั้งนี้คือ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีการตัดลำไส้ทิ้งเนื่องจากภาวะการเป็นมะเร็งลำไส้ ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายทางทวารหนักตามปกติได้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมมากขึ้น ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ โดยนำเอาผลผลิตของยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้มาประยุกต์ใช้ จนเป็นผลสำเร็จ สามารถลดต้นทุนในการสั่งซื้อชุดทวารเทียมจากต่างประเทศ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง แต่ยังคงคุณภาพและประสิทธิภาพที่ได้มาตรฐานและเทียบเท่าชุดอุปกรณ์ทวารเทียมจากต่างประเทศ
ปัจจุบันชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากถวายเทียมมีอยู่หลากหลายชนิด / ชื่อทางการค้า โดยต่างนำเสนอรูปแบบตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายราคามีความแตกต่างกันตามชนิดและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ประกอบกับประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้ได้เองในเชิงอุตสาหกรรม ราคาแพง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า และภาครัฐต้องเสียงบประมาณสูง มีโรงพยาบาลหลายแห่งดัดแปลงอุปกรณ์ใช้แทนถุงทวารเทียม ประสบปัญหาระหว่างการใช้และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ระคายเคือง แป้นรั่วซึม หลุดง่ายและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์
ข่าวน่าสนใจ:
- อำเภองาวเตรียมจัดงาน “มหกรรมชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง”
- กกต.ตรัง พร้อมเปิดสนาม จัดเลือกตั้งอบจ. เปิดยิม 4,000 ที่นั่งรับสมัคร พื้นที่กว้างขวางรองรับกองเชียร์ผอ.กกต.ตรัง เผยการข่าวพบ 3…
- ขอนแก่นเข้มต่อเนื่อง!!เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด รวบคู่รักนักค้ายา หลังฝ่ายชายเพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ
- ทม.หัวหิน จัดเต็ม แสงสีเสียงตระการตา ชวนย้อนวันวานในงาน "113 ปี หัวหินถิ่นมนต์ขลัง"
จากการศึกษาของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (2556-2558) สถิติการใช้แป้นและถุงทวารเทียมจากต่างประเทศ 2 ยี่ห้อบริษัท พบว่าราคาแผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมจัดเป็นวัสดุสิ้นเปลืองที่มีราคาแพงแผ่นละ 122-188 บาท ตามขนาดและชื่อของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการสั่งซื้อโดยซื้อได้เดือนละ 5 แผ่น/คน ผู้ป่วยหรือญาติจำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อซื้อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์บ่อยครั้ง และมีจำหน่ายเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางแห่งเท่านั้น หากคิดค่าใช้จ่ายในการใช้แผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมของต่างประเทศสำหรับผู้ป่วย จำนวนการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยปี 2556 27,870 ชิ้นต่อปี ในปี 2557 30,256 ชิ้นต่อปี และในปี 2558 32,151 ชิ้นต่อปี เฉลี่ย 30,090 ชิ้นต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายปี 2556 3,081,457 บาทต่อปี ในปี 2557 3,409,446 บาทต่อปี ในปี 2558 3,614,739 บาทต่อปี เฉลี่ย 3,368,547.33 บาทต่อปี
ข้อมูลข้างต้นเฉพาะโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น หากนับรวมถึงโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทุกแห่งในประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ในการซื้อวัสดุดังกล่าวจากบริษัทต่างประเทศ เนื่องจากราคาสูงจึงไม่ได้มีการนำมาจำหน่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างจังหวัดทั่วไป เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบริการระหว่างผู้ป่วยในเขตเมืองใหญ่และต่างจังหวัด หรือบางรายต้องใช้ตลอดชีวิต สิทธ์การรักษาไม่สามารถเบิกได้ หรือมีเศรษฐานะเป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส อาจมีปัญหาในการดูแลทวารเทียม เนื่องจากผู้มีเศรษฐานะดีจะสามารถเข้าถึงวัสดุดังกล่าวที่มีราคาสูงได้ดีกว่า ซึ่งการมีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับทวารเทียมที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวทางสังคมที่ดีขึ้น ตลอดจนอาจมีภาวะเครียดและกังวลจากข้อจำกัดในปริมาณการซื้อ รวมทั้งความไม่สะดวกในการเดินทาง
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตยางพาราเป็นอันดับต้นของโลก ประกอบกับนโยบายภาครัฐ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการผลักดันให้ไทยในฐานะผลิตยางพารารายใหญ่สามารถใช้วัสดุประเภทยางในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์หลากหลายชนิด เพื่อลดการนำเข้าอันเป็นการสูญเสียงบประมาณ รายจ่ายเกินความจำเป็นและกลับสามารถสร้าง ประโยชน์สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ
ประเด็นสำคัญในการนำยางมาสังเคราะห์ผลิตอุปกรณ์ คือ การแพ้ยางโดยเฉพาะบริเวณรอบๆทวารเทียม มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ผู้วิจัยจึงพยายามสกัดโปรตีนจากน้ำยาง เป็นชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมด้วยยางพาราชนิดสกัดโปรตีน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีผู้ที่พยายามคิดค้นผลิตและดัดแปลงในรูปแบบอื่น ๆ และวัสดุอื่นที่มีราคาถูก เป็นวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่สามารถหาได้ง่าย ย่อยสลายได้ง่าย มีคุณภาพที่ดี เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน การพัฒนาชุดแผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมโดยใช้ยางมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนแผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ด้วยประเทศไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมพลาสติกด้วยความร่วมมือจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคิล จำกัด มหาชน ได้ค้นคว้าวิจัยพลาสติกชนิดพิเศษที่เป็นวัสดุในการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ผลิตถุงรองรับอุจจาระจากทวารเทียมขึ้น มีประโยชน์ดีกว่าของเดิมคือ ถุงรองรับทวารเทียมที่สามารถลดกลิ่น เก็บเสียงอันไม่พึงประสงค์ และนอกจากนั้นคณะทำงานร่วมกับสถาบันพลาสติก ยังได้มีการออกแบบอุปกรณ์ฝาครอบพลาสติกขนาดเส้นรอบวงตามขนาดของทวารเทียม ให้มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างจากผลิตภัณฑ์ต่างประเทศได้เพื่อลดปัญหาการจดลิขสิทธิ์ หากสามารถผลิตชุดอุปกรณ์เพื่อดูแลทวารเทียมใช้ได้เองภายในประเทศสามารถช่วยลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลแห่งอื่นทั่วประเทศสามารถ เข้าถึงบริการได้โดยง่ายอย่างเท่าเทียมกันอันจะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของผู้มีทวารเทียมโดยรวมดีขึ้นและสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและมีความปลอดภัยสูงสุด
โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วยในเรื่องของการดูแลทวารเทียมและการใช้ชุดอุปกรณ์ และเพื่อส่งมอบชุดอุปกรณ์รองรับถุงทวารเทียมให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลตรังอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: