จังหวัดน่าน สุดสะเทือนใจยอดพระธาตุเจดีย์ยอยหงส์ หักกองกับพื้นสองปีกว่าชาวบ้านวอนแบ่งเศษงบประมาณซ่อมแซม
ข่าววันนี้ น่าน วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่วัดพระธาตุยอยหงส์ ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน สุดสะเทือนใจ พบพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอแม่จริม และชาวจังหวัดน่าน ยอดหักกองอยู่กับพื้น รอซ่อมนานสองปีกว่า
ชาวบ้านและทางวัดใช้ฝาโอ่งปิดทับไว้กันแดดกันฝนกลัวเสียหายหนักกว่าเดิม จากการเปิดเผยข้อมูลพบปลียอดองค์พระธาตุยอยหงส์หักจากการเกิดพายุฤดูร้อน มีลมกระโชกแรงพัดปลียอดหักตกลงมากองกับพื้นตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2561 จนถึงวันนี้ 2 ปีกว่า
จากการสอบถามข้อมูลจาก สำนักศิลปากรที่ 16 น่าน ได้ข้อมูลว่า ทางสำนักฯ ได้ทำเรื่องขอบูรณะซ่อมแซม และงบประมาณได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว แต่เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด และทางรัฐบาลได้ดึงงบประมาณคืนในส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็นเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมทั้งงบประมาณในการบูรณะองค์พระธาตุเจดีย์นี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวสอบถามแนวทางการบูรณะ โดยได้คำตอบแต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าปัจจุบันไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมบูรณะ โดยทางกรมศิลปากร สำนักงานศิลปากรที่ 16 น่าน จะได้ดำเนินการขอใช้งบประมาณเหลือจ่ายเพื่อมาบูรณะซ่อมแซม แต่จากข้อคิดเห็นส่วนตัวปัจจุบันแม้แต่งบฟื้นฟูโควิด สี่แสนกว่าล้านยังต้องกู้มา ไม่รู้จะเหลือจากตรงไหน หากไม่มีส่วนต่างเข้ากระเป๋าใครคงมีงบเหลือมาซ่อมแน่ๆ งบซ่อมแซมองค์พระธาตุไม่มี แต่งบสร้างถนนในงบฟื้นฟูโควิด ยาวรอบโลกได้สบาย
สำหรับองค์พระธาตุยอยหงส์ตำนานกล่าวไว้ว่า พระธาตุยอยหงส์ ตั้งอยู่ที่ บ้านพรหม หมู่ที่ 1 ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ประวัติความเป็นมา ตำนานวัดพระธาตุยอยหงส์ตั้งอยู่บน ยอดเขานันทบุรีน้อย อยู่ทางทิศ ตะวันตกฉียงใต้ของวัดบ้านพรพม ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เป็นสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ เคารพสักการะบูชาของชาวอำเภอแม่จริม และประชาชนทั่วไป
ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธาตุองค์นี้สร้างขึ้น เมื่อพุทธศักราช 1714 หรือจุลศักราช 633 ความเป็นมาก่อนสร้างองค์พระธาตุคือ มีหงส์ตัวหนึ่ง “ได้คาบเอายอยทองคำ (ตราชูทองคำ เครื่องชั่งสมัยโบราณ) บินมาวงเวียนอยู่ยอดเขานี้ถึง 3 รอบ แล้วเอายอยทองคำนั้น ปล่อยลงมาตรงยอดเขานี้
ส่วนหงส์ตัวนั้นก็บินบ่ายโฉบหน้าไปทางทิศตะวันตก และมีฟ้าร้องฟ้าผ่า ฝนตกหนัก เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เมื่อฝนฟ้าสงบลง มีช้างป่าโขลงหนึ่งประมาณ 100 เชือก มาเดินวนเหยียบดินบริเวณยอดเขาแห่งนี้ จนเรียบเตียน แล้วเดินไปประทักษิณรอบบริเวณยอดเขา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ลานช้าง” อยู่จนบัดนี้
เมื่อช้างโขลงนั้นกลับไปแล้วนั้น พระครูบาคล่อม (พระภิกษุคล่อม) ซึ่งเป็นพระเถระผู้เคร่งครัดพระธรรมวินัย และเป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธามากที่สุดในสมัยนั้น ได้ชักชวนให้ชาวบ้านที่เป็นคนแก่คนเฒ่า และชาวบ้านที่มีศีล มีสัตย์ ให้มาสมาทานรักษาอุโบสถศีล และสัตยาธิฐาน
แล้วก็ขึ้นมาดูบริเวณยอดเขาแห่งนั้น และได้พบว่า มียอยทองคำวางอยู่บนจอมปลวก จึงได้พากันคิดก่อสร้างเป็นองค์เจดีย์เล็กๆ ครอบยอยทองคำนั้นไว้ แล้วตั้งชื่อว่า “พระธาตุยอยหงส์” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อจุลศักราช 683 หรือพุทธศักราช 1764 ได้มีพระครูบา อริยวังโส มาจากวัดกือมา เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า และหมื่นพละ ท้าวภวังค์ พ่อคำตุ่น พร้อมด้วยลูกศิษย์ และศรัทธาชาวบ้านในอำเภอแม่จริม หรือบ่อว้าในสมัยนั้น ได้พากันเสริมสร้างขึ้นอีก
ให้เป็นองค์พระธาตุขนาดใหญ่ วัดโดยรอบกว้างประมาณ 5 วาเศษ สูงประมาณ 7 วา จนถึงทุกวันนี้ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้ฉาบปูนปิดทองคำเปลว ขณะปิดทองคำเปลวนั้น ได้เกิดพายุลมแรง
พัดเอาทองคำเปลวแผ่นหนึ่งไปตกที่เนินเขาใกล้บ้านน้ำพาง ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นมาพบเข้า จึงได้พากันก่อสร้างเจดีย์ครอบทองคำเปลวแผ่นนั้นไว้ และได้ตั้งชื่อว่า “เจดีย์คำเปลว หรือพระธาตุคำเปลว” มาจนทุกวันนี้
77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: