สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลกที่มนุษย์ค้นพบและรู้จักครั้งแรก ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ นั่นคือ ‘ไฟฟ้า’ พบข้อความที่ถูกจารึกไว้ในช่วงประมาณ 2750 ปีก่อนคริสต์ศักราช มนุษย์ได้พูดถึงปลาไฟฟ้าและตั้งฉายาว่า “สายฟ้าแห่งแม่น้ำไนล์” จากนั้นอีกหลายพันปีต่อมา มนุษย์ได้เรียนรู้และทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าเรื่อยมา จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ไฟฟ้าเปลี่ยนจากสิ่งที่น่าพิศวง กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตและพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ แต่สิ่งที่ยังคงเดิมและไม่เปลี่ยนแปลง คือ ธรรมชาติของไฟฟ้าที่ ต้องอาศัยการเคลื่อนที่ผ่านตัวนำไฟฟ้า หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไฟฟ้าไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนเองได้ หรือว่า ไฟฟ้าจะไม่มีขา ?
กว่าที่ไฟฟ้าจะเดินทางไปยังบ้านแต่ละหลังได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราจะต้องสร้างเส้นทางการเดินทางให้กับไฟฟ้า เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าสามารถเดินทางไปยังทุกครัวเรือน ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศได้ หรือที่เราเรียกกันว่า ระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) นั่นเอง หากเปรียบเทียบกับร่างกายของมนุษย์ ระบบส่งไฟฟ้าก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ทำหน้าที่ส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังบ้านแต่ละหลังทั่วไทย
ระบบส่งไฟฟ้า ประกอบด้วย สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งแบ่งตามระดับแรงดันไฟฟ้า ได้แก่ 500 กิโลโวลต์ (kV) 230 kV 115 kV และ 69 kV สายส่งไฟฟ้าแรงสูงมีระยะทางไกลมาก จากเหนือจรดใต้รวมกว่า 36,000 วงจร-กิโลเมตร สามารถนำมาวนรอบประเทศไทยได้เกือบครบ 4 รอบ ยิ่งไกลยิ่งต้องใช้แรงดันไฟฟ้าที่สูง เพื่อลดอัตราการสูญเสียพลังงานในสายส่งไฟฟ้า เสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลระบบผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าของประเทศ มี 3 ประเภท คือ เสาคอนกรีต เสาโครงเหล็ก และเสาชนิด Monopole ที่มีลักษณะคล้ายเสาเหล็กสูง ตั้งอยู่โดดเด่น มีข้อดี คือ ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ติดตั้งในพื้นที่ที่จำกัด แต่ราคาสูงกว่าเสาโครงเหล็กมาก นอกจากนี้ ระบบส่งไฟฟ้ายังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า ลานไกไฟฟ้า และสถานีไฟฟ้าแรงสูง โดยมี ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตและส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทุกวันนี้ ไฟฟ้าเดินทางไปได้เกือบทุกที่แล้ว ไม่ว่าจะบนดอยสูง เกาะในทะเล หรือหมู่บ้านกลางป่าเขาลำเนาไพร ไฟฟ้าไปถึงพร้อมกับความเจริญและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บ้างก็พูดกันว่า นอกจากแสงสว่างแล้ว ไฟฟ้ายังพาเพื่อนที่ชื่อว่า โอกาสและความสุข มาด้วย
หากแต่การนำไฟฟ้าไปถึงแต่ละบ้านนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ กว่าจะตั้งเสาส่งไฟฟ้าแต่ละต้นสำเร็จ ในอดีตเคยถึงกับต้องใช้ช้างในการลากและขนส่งอุปกรณ์สำหรับตั้งเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงขึ้นไปบนเขา เพราะรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เจ้าหน้าที่ต้องกินต้องนอนกันอยู่ในป่าอยู่หลายวัน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าความยากลำบาก คือ โอกาสที่ทุกบ้านจะมีไฟฟ้าและแสงสว่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย
กฟผ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่งถึง เพียงพอ และเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยมีงบประมาณลงทุนในปี 2563 รวมกว่า 22,490 ล้านบาท ใน 18 โครงการหลักทั่วประเทศ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019) หรือ โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศไปบ้าง แต่ กฟผ. ได้ปรับมาตรการรองรับต่าง ๆ เพื่อให้ยังคงสามารถดำเนินงานในส่วนที่สามารถทำได้ เช่น งานก่อสร้างฐานราก งานก่อสร้างอาคาร และงานในส่วนผู้รับเหมาภายในประเทศ เป็นต้น
ข่าวน่าสนใจ:
แม้ว่า ไฟฟ้าจะไม่มีขาก็ตาม แต่ทุกวันนี้ ไฟฟ้าเดินทางตลอด 24 ชั่วโมงอย่างไม่เคยหยุดพักผ่านระบบส่งไฟฟ้าทั่วประเทศ มากกว่า 51 ปี ตั้งแต่เริ่มตั้งเสาส่งไฟฟ้าไม้ซุงต้นแรก มาจนถึงเสาส่งไฟฟ้าโครงเหล็กอย่างในปัจจุบัน เพื่อนำพาโอกาสและความสุขไปยังคนไทยทุกคน หากเส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงาน ต้องขาดหรือชำรุดลงเพียงแค่ไม่กี่นาที ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต
โควิด-19 กฟผ. มุ่งมั่นตั้งใจดูแลรักษาและพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ …. 51 ปี กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: